สตาร์ทอัพกับนวัตกรรม 4 รูปแบบ

ทุกวันนี้เราพอมองเห็นเค้าลางขึ้นบ้างแล้วว่าสตาร์ทอัพ นั้นเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ประเภทใด มีวิธีการทำให้ความคิดของตนเองประสบความสำเร็จได้อย่างไร
ถึงกระนั้น ก็ยังอาจมี สตาร์ทอัพ บางคน ที่หันไปมอง สตาร์ทอัพ คนอื่นในแวดวง สตาร์ทอัพ ด้วยกันและยังไม่แน่ใจว่า สตาร์ทอัพ คนนั้น ใช่ สตาร์ทอัพ จริงหรือไม่
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคำว่า สตาร์ทอัพ นั้น เป็นคำที่มีนิยามที่ยังไม่ค่อยจะชัดเจนนัก จนกระทั่งกลายเป็นคำกว้างๆ ที่ต่างคนต่างสามารถนำมาใช้ตามความต้องการของตนเอง
อย่างไรก็ตาม จุดโดดเด่นของ สตาร์ทอัพ ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็น่าจะเป็นเรื่องของการที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับการสร้าง นวัตกรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่เรื่องที่ยังสับสนกันอีกต่อไปว่า
นวัตกรรม จริงๆ แล้วคืออะไร หรือ อะไรที่จะสามารถเรียกได้ว่าเป็น นวัตกรรม
เพื่อตีวงให้แคบขึ้น สตาร์ทอัพ น่าจะต้องเกี่ยวข้องการสร้าง นวัตกรรมเชิงพาณิชย์
ซึ่งจะตีความหมายได้ชัดเจนขึ้นได้ว่า สตาร์ทอัพ ก็คือผู้ประกอบการเริ่มใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์หรือบริการเชิงการค้าที่มีความแปลกใหม่ ยังไม่เคยมีในตลาดมาก่อน โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการบริการนั้นๆ
ดังนั้น เราอาจแบ่งสายพันธุ์ของ สตาร์ทอัพ ออกได้เป็นประเภทต่างๆ ตามแนวทางการสร้างนวัตกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถจำแนกนวัตกรรมออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ
ในที่นี้ ขออนุโลมว่า นวัตกรรม หมายถึงเฉพาะ นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้แก่ สิ่งแปลกใหม่ที่มีมูลค่า เจ้าของนวัตกรรมสามารถนำมาขายได้และมีผู้ต้องการซื้อนวัตกรรมนั้นๆ มาใช้ ในปริมาณมากพอที่จะสร้างยอดขายหรือผลตอบแทนได้มากพอในเชิงพาณิชย์
4 ประเภทใหญ่ๆ ของนวัตกรรมที่ว่านี้ ได้แก่
ประเภทที่ 1 นวัตกรรมที่เป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน
สตาร์ทอัพ ที่มุ่งติดตามนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบ มักจะมีพื้นฐานมาจากการเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิชาการ หรือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่มีความรู้ ติดตามความเคลื่อนไหวที่เป็นสัญญาณในอนาคต และทุ่มเทให้ความสนใจไปที่การนำผลงานวิจัยใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ หากไม่ได้เป็นผู้ค้นคว้าวิจัยเอง ก็มักจะเป็นผู้ที่เข้านอกออกในคลุกคลีอยู่กับนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือในศูนย์วิจัยต่างๆ เป็นประจำ
บางคนอาจมองว่า โอกาสในการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์จะค่อนข้างต่ำ แต่หากประสบความสำเร็จ ผลตอบแทนจะได้คืนมาอย่างมหาศาล
ประเภทที่ 2 นวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์
สตาร์ทอัพกลุ่มนี้ เป็นผู้ติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ (เทคโนโลยี หมายถึง การนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์) โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทดลองประสบความสำเร็จในห้องปฏิบัติการแล้ว และมุ่งนำมาขยายผลในเชิงพาณิชย์
ประเภทที่ 3 นวัตกรรมที่ตลาดมองข้ามไปหรือคิดไม่ถึง
ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่ในท้องตลาดแล้ว แต่ในบางมิติอาจถูกมองข้ามไปไม่ได้รับการพัฒนา หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์มองข้ามไปไม่ทันเห็นความสำคัญ แต่เมื่อมีผู้ค้นพบช่องว่างและพัฒนาโอกาสนั้นขึ้นมาเป็นนวัตกรรม ก็อาจสร้างความกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้เล่นในตลาดเดิมได้เป็นอย่างมาก นวัตกรรมประเภทนี้ มักเรียกกันว่า Disruptive Innovation
ตัวอย่างที่มักนำมาพูดถึงก็คือ นวัตกรรมเครื่องถ่ายเอกสารในอดีตที่เป็นเครื่องขนาดใหญ่ มีราคาแพง องค์กรใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะซื้อหามาใช้ได้ แต่เมื่อมีผู้พัฒนาเทคโนโลยีเดิมที่ใช้ในเครื่องขนาดใหญ่ สามารถลดขนาดมาเป็นเครื่องตั้งโต๊ะ ขนาดเล็ก สามารถซื้อหามาใช้ในธุรกิจขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งในบ้านได้ ตลาดของเครื่องถ่ายเอกสารก็ถูก Disrupt ไปจนถึงทุกวันนี้
ประเภทที่ 4 นวัตกรรมที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสะดวกหรือสบายในการใช้งานมากขึ้น
สตาร์ทอัพกลุ่มนี้ จะสนใจพัฒนาสินค้าหรือบริการที่มีอยู่แล้วในตลาด ผู้บริโภครู้จักเป็นอย่างดี อาจไม่เหมือนกับนวัตกรรมอีก 3 ประเภทที่กล่าวมาที่เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับผู้บริโภค แต่แสวงหาแง่มุมที่จะเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ในการใช้งานเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานให้กับผู้บริโภคโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ช่วยทำธุรกรรมทางการเงินให้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่ธนาคาร นำเสนอช่องทางเรียกใช้บริการต่างๆ ได้ถึงที่บ้าน นำเสนอบริการที่สนับสนุนการทำธุรกิจขนาดเล็ก เช่น บริการโลจิสติกส์ บริการซื้อขายออนไลน์ หรือการนำระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้ประกอบกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น
ถ้าสงสัยว่า ใครที่จะเข้าข่ายเป็น สตาร์ทอัพ หรือไม่ ก็ลองดูว่า เขานำเสนอนวัตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ประเภทนี้หรือไม่ ก็คงอาจจะพอมองออก!!!