ธุรกิจรังนก ธุรกิจแสนล้าน ยุคการมีอธิปไตยทางอาหาร(5)

ธุรกิจรังนก ธุรกิจแสนล้าน ยุคการมีอธิปไตยทางอาหาร(5)

แม้ระบบสิทธิและกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรรังนกแต่ละประเทศจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

แต่ด้วยเงื่อนไขเฉพาะที่เป็นเครือข่ายธุรกิจของคนจีน ในระบบธุรกิจและการจัดการธุรกิจรังนกในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักธุรกิจกลุ่มชาติจีนเป็นผู้รวบรวมซื้อรังนก จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปขายตามชุมชนของชาติพันธุ์จีนในประเทศต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยมีจีน ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นตลาดรังนกที่สำคัญ

ไม่มีใครระบุได้ว่า ขนาดของธุรกิจรังนกที่เป็นจริงเป็นจำนวนเท่าใด ด้วยตัวเลขนั้นเป็นแค่ข้อมูลทางสถิติ ตัวเลขจริงขึ้นอยู่กับกิจการของแต่ละบริษัท การระบุขนาดการนำเข้าและส่งออกรังนกโดยทางการค้าแล้วทำให้มีความน่าเชื่อถือ ทว่า แม้ไม่มีตัวเลขการนำเข้าและส่งออกรังนกอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีความพยายามประมวลข้อมูลประมาณการขนาดธุรกิจรังนกในประเทศต่างๆ เอาไว้

ขนาดของธุรกิจรังนกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2011 เวียดนาม เก็บรังนกได้ 7,000-8,000 กิโลกรัม คิดราคารังนกเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 50,000 บาทหรือ 1,666 ดอลลาร์ ไม่นับรวมกับธุรกิจรังนกสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เวียดนามจะมีรายได้จากการขายรังนกดิบปีละ 350-400 ล้านบาท

ในขณะที่อินโดนีเซียส่งรังนกเป็นสินค้าออกปีละ 2,000 ตัน เฉลี่ยราคารังนกที่กิโลกรัมละ 1,500 ดอลลาร์หรือ 45,000 บาท คาดอินโดนีเซียมีรายได้จากการขายรังนกดิบปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์หรือปีละ 9 หมื่นล้านบาท

ด้านมาเลเซีย ระบุว่า ส่งรังนกเป็นสินค้าออกปีละ 600 ตัน หรือ 600,000 กิโลกรัม เฉลี่ยราคารังนกที่กิโลกรัมละ 1,500 ดอลลาร์ หรือ 45,000 บาท มาเลเซียมีรายได้จากการขายรังนกดิบปีละ 900 ล้านดอลลาร์ หรือปีละ 2.7 หมื่นล้านบาท

ฟิลิปปินส์ ประมาณการกันว่า ผลิตรังนกได้ 5 ตัน มีรายได้จากการขายรังนกดิบปีละ 7.5 ล้านดอลลาร์ หรือปีละ 225 ล้านบาท

ไทย  ปี 2014 ประมาณการกันว่า ผลิตรังนกดิบได้ 200 ตัน หรือ 200,000 กิโลกรัม มีรายได้จากการขายรังนกดิบปีละ 300 ล้านดอลลาร์ หรือปีละ 9,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับมูลค่าตลาดรังนกในภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป มูลค่าตลาดรังนกไทยจึงมีไม่น้อยกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท

ขนาดของธุรกิจรังนกในจีน ฮ่องกง และชุมชนชาติพันธุ์จีนทั่วโลก

  ว่ากันว่าฮ่องกงเป็นตลาดบริโภครังนกที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีองค์กรใดระบุตัวเลขธุรกิจรังนกที่แน่นอนได้ เพราะส่วนใหญ่มีการขนรังนกเข้าโดยบุคคล

การนำเข้ารังนกฮ่องกงได้เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ปี 1949 โดยเฉพาะในปี 1975 ที่มูลค่ารวมเพิ่มขึ้นถึง 48 เท่าตัว ระหว่างปี 1975 และปี 1991 จาก 9.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เป็น 459 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ระหว่างปี 1980 กับ ปี 1989 ฮ่องกงนำรังนกเข้า 81,000-160,000 กิโลกรัม มูลค่า 40-300 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ปี 2004 มีการประมาณกันว่าตลาดรังนกในฮ่องกงมีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ระบุว่า ปี 2006 ฮ่องกงนำเข้ารังนกมูลค่า 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 276 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2008

ปี 2009 บริษัทโฮม ออฟ สวอลโล (Home of Swallows Limited) ในฮ่องกง ประมาณการว่ารังนกดิบที่ผ่านตลาดรังนกฮ่องกงมีถึงปีละ 1,000 ตัน มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ธุรกิจรังนกในฮ่องกงมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อปี

การเคลื่อนย้ายตลาดรังนกโลกจากจีนไปสู่จีน

หลังจากจีนตรวจพบรังนกเลือดเป็นของปลอม และนำไปสู่ การหักดิบห้ามนำเข้ารังนก” จากมาเลเซียและประเทศอื่นๆ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2011 นับเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่เกิดผลกระทบกับวัฒนธรรมการบริโภค ‘รังนกเลือด’ ของคนจีนครั้งสำคัญ

หลังเกิดเหตุการณ์ “การหักดิบธุรกิจรังนกโลก กรกฎาคม 2011” ของจีน เมื่อจีนได้กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าและคุณภาพรังนกจากมาเลเซียและทุกประเทศที่ส่งรังนกเข้าประเทศจีน ก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับโลกธุรกิจรังนกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดการทำธุรกิจรังนกโลกใหม่ของจีน ในลักษณะของการแสดงและการใช้อำนาจใหม่ (Deregulation) ในศตวรรษใหม่ของจีน ซึ่งได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมและส่งผลกระทบกับธุรกิจรังนกทุกประเทศที่เป็นแหล่งผลิตรังนกที่สำคัญของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกอย่างรุนแรง

โดยจีนพ้นช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิม ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนจากการพึ่งพาการส่งออกเป็นการพัฒนากลไกและขยายความต้องการของการบริโภคภายในประเทศ ทั้งได้ออก “กฎระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบและการกักกันของติดตัวของคนเข้าหรือออกเมือง” บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2012 รังนก (ยกเว้นรังนกกระป๋อง) ถูกจัดเป็นสินค้าห้ามติดตัวนำเข้ามายังจีน อันเป็นกลยุทธ์ในทางเศรษฐกิจหนึ่งของจีน หลังจากที่ปล่อยให้ฮ่องกงเป็นตลาดโลกรังนกมายาวนานตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ (1949-1976) ถึงปี 2012 เป็นเวลา 63 ปี นับเป็นกลยุทธ์ที่แยบคายในการนำเอาสินค้า ‘รังนกใต้ดิน’ มาไว้ ‘บนดิน’ พร้อมทั้งได้แปรสภาพเคลื่อนตลาดรังนกโลกจากฮ่องกงให้กลับคืนไปอยู่ในจีนดังเดิม

ภาพรวมของธุรกิจรังนกในปัจจุบัน (ปี 2016) ตลาดรังนกในฮ่องกงเคยเติบโตกว่าในประเทศจีน เพราะตลาดรังนกยุคใหม่ในจีนเติบโตหลังฮ่องกง อนาคต ตลาดรังนกจะเติบโตขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะตลาดในจีน แม้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ทว่า แนวโน้มการบริโภครังนกตลาดในฮ่องกงเริ่มอิ่มตัวแล้ว นักธุรกิจผู้ค้ารังนกจึงต่างก็เตรียมการลงทุนเพื่อขยายความต้องการอีกระดับในจีน ซึ่งมีการประมาณกันว่าตลาดรังนกในจีน มีมูลค่านับหลายพันล้านดอลลาร์