Brexit กับธนาคารกลางอังกฤษ

Brexit กับธนาคารกลางอังกฤษ

หลัง Brexit ธนาคารกลางอังกฤษที่พร้อมออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับธนาคารกลางอีก 3 ขาใหญ่

ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยนายมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ได้ออกมาประกาศว่าพร้อมจะทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษไม่ตกอยู่ในภาวะถดถอย นั่นก็หมายความว่าจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบสุดตัวชนิดที่ไม่น้อยหน้า Big 3 ข้างต้น

มาตรการที่นายคาร์นีย์ตั้งใจว่าจะดำเนินการเพื่อหยุดยั้งความตกต่ำของเศรษฐกิจเมืองผู้ดี จากความไม่แน่นอนที่ส่งผลต่อเสถียรภาพ รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงของชาวอังกฤษ คือ หนึ่ง การเตรียมเงิน 2.5 แสนล้านปอนด์สำหรับเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงิน สอง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก และ สาม เพิ่มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และหากจำเป็น จะดำเนินมาตรการแทรกแซงซื้อหรือขายสกุลเงินต่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินปอนด์

อุปสรรคของนายคาร์นีย์ที่อาจจะทำให้ไม่สามารถหยุดผลกระทบซึ่งดูจะหนักหนาสาหัสต่อเศรษฐกิจอังกฤษจากผลพวงของ Brexit มีดังนี้

หนึ่ง ด้วยความที่นายคาร์นีย์ออกตัวแรงก่อนการทำประชามติของชาวอังกฤษต่อกรณี Brexit ด้วยการประเมินผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจอังกฤษเมื่อเกิด Brexit ไว้สูงมาก ทำให้ความน่าเชื่อถือของตัวผู้ว่าการธนาคารกลางลดลงบนช่วงรอยต่อในการออกจากอียูของอังกฤษ ส่งผลให้การแก้ไขความตกต่ำของเศรษฐกิจอังกฤษในตอนนี้ของนายคาร์นีย์อาจจะทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากกลายเป็นว่าผู้ว่าการธนาคารกลางมองการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่เหนือการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อหรือความผันผวนของค่าเงินอย่างชัดเจน

สิ่งนี้ น่าจะทำให้การประเมินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษจากตลาดเงินทำได้แบบไม่เป็นกลาง และนั่นจะนำไปสู่การเก็งกำไรต่อตลาดการเงินได้แบบไม่ยากเย็น ตัวอย่างที่นายจอร์จ โซรอส ได้เคยทำไว้กับธนาคารกลางอังกฤษเมื่อตอนเงินปอนด์ออกจากเงินสกุลยูโรเมื่อปี 1992

สอง ความต่อเนื่องของนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษในตอนนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองมากกว่าทางเศรษฐกิจ น่าสังเกตว่าการขับเคี่ยวกันระหว่างนายไมเคิล โกฟ ตัวแทนของฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษออกจากอียู หรือฝ่าย Leave กับนางเทเรซ่า เมย์ ตัวแทนของฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษยังอยู่ในอียู หรือฝ่าย Remain ในการเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม แทนนายเดวิด คาเมรอน เพื่อที่จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษคนใหม่ กลายเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าคำพูดของนายคาร์นีย์จะมีความน่าเชื่อถือเพียงใดในสายตาประชาชน

โดยหากนายโกฟเป็นฝ่ายกำชัย นายคาร์นีย์คงจะต้องหมดวาระจากการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางในปีหน้า ส่งผลให้ช่วงเวลาต่อจากนี้ไปจนถึงปีหน้า ธนาคารกลางอังกฤษจะดำเนินมาตรการนโยบายการเงินได้ในโหมดที่ไม่สามารถโน้มน้าวให้คนเชื่อว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษคนใหม่ที่จะได้รับการแต่งตั้งจากฝ่าย Leave คงจะไม่ได้คำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เนื่องจากจะประเมินภาพเศรษฐกิจอังกฤษในอนาคตไว้ดีกว่าฝ่าย Remain อย่างนายคาร์นีย์

หากเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นอังกฤษจะมีความไม่แน่นอนสูงมากในระยะสั้น โดยตัวเก็งหลายคนที่จะมารับช่วงต่อจากนายคาร์นีย์ล้วนแต่ไม่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบทั้งสิ้น 

ในทางกลับกัน หากนางเมย์เกิดชนะขึ้นมา นายคาร์นีย์ก็จะสามารถดำเนินมาตรการของตนเองต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอังกฤษในระยะสั้น

สาม การสื่อสารอย่างเปิดเผยระหว่างนายคาร์นีย์กับนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปจะทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากการตัดความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป ทำให้ความร่วมมือแบบใกล้ชิดจะทำได้น้อยลง ดังนั้นโอกาสจะเห็นแรงบวกจากมาตรการกระตุ้นของธนาคารกลางยุโรปมาเสริมมาตรการของนายคาร์นีย์คงจะทำได้ยากมากขึ้น

ท้ายสุด การหลั่งไหลออกของสถาบันการเงินต่างๆ ออกจากกรุงลอนดอนไปสู่เมืองต่างๆ ของยุโรป อาทิ ปารีส ลักเซมเบอร์ก หรือดับลิน ทำให้เสถียรภาพสถาบันการเงินของอังกฤษลดลง เนื่องจากตัวกลางด้านการเงินที่เป็นเสมือนตัวเชื่อมต่อระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินจะลดขนาดลง ทำให้การขยายตัวและเสถียรภาพของภาคเศรษฐกิจจริงก็จะย่ำแย่ลงไปอีก ตรงนี้ ยิ่งทำให้นายคาร์นีย์และทางการอังกฤษมีเครื่องมือทางการเงินลดลงไปมาก

โดยสรุป นายคาร์นีย์จะพบกับอุปสรรคในการต่อสู้กับผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจแบบรอบด้าน จนอาจเป็นการยากที่เศรษฐกิจอังกฤษจะเลี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตอันใกล้ครับ