‘ช็อค’ยกสองที่อังกฤษ : ขอลงประชามติซ้ำ!

คนทั่วโลกเพิ่งจะเจอกับอาการ “ช็อค” ครั้งใหญ่
เมื่อประชามติวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาเสียงเกิน 50% ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป
ช็อคครั้งที่สองก็ตามมาอย่างฉับพลัน... นั่นคือมีคนอังกฤษกว่า 2.1 ล้านคนชื่อในบัญชีหางว่าว ขอให้มีการลงประชาติมติ “ซ้ำ” อีกครั้ง
เหตุผลที่อ้างคือกลุ่มคนที่ลงคะแนนให้ Leave หรือผละออกจากอียูนั้นชนะอย่างเฉียดฉิวเพียง 51.9% เท่านั้น
คะแนนทางการของฝ่าย Leave คือ 17,410,742 ขณะที่ของฝ่าย Remain อยู่ที่ 16,141,241
คะแนนแพ้ชนะห่างกัน 1,269,501 เสียง
แต่คนมาใช้สิทธิอยู่ที่ 72.16% ต่ำกว่า 75% ทำให้เกิดข้ออ้างว่า ผลการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ยังไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของคนอังกฤษที่แท้จริง
เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า กฎกติกามารยาทของอังกฤษ จะสามารถทำให้มีการ “โหวตซ้ำ” ได้หรือไม่?
คำตอบก็คือจะต้องมีคนไม่น้อยที่บอกว่า “ทำได้” แต่ก็คงจะมีคนอีกไม่น้อยเช่นกันที่บอกว่า “ขี้แพ้ชวนตี” หรืออย่างไร?
คนที่อ้างว่าการลงประชามติครั้งใหม่ สามารถทำได้เพราะเรื่องนี้มีความประหลาดตั้งแต่ต้นแล้ว
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ อังกฤษมีการทำประชามติเรื่องใหญ่ ๆ เพียง 3 ครั้งเท่านั้นเพราะโดยธรรมเนียมปกติแล้ว คนที่ประชาชนเลือกมาคือ ส.ส. เป็นคนตัดสินใจในรัฐสภา
แต่การจัดให้มีการลงประชามติครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของนายกฯ เดวิด คาเมรอน เพื่อลดความตึงเครียดเรื่องสหภาพยุโรป ภายในพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาเอง
ตอนที่ตัดสินใจอย่างนี้เพราะเป็นช่วงหาเสียง และเขามั่นใจว่าอย่างไรเสียคนอังกฤษก็ยังคงต้องการอยู่กับอียูต่อไป แต่ผลที่ออกมาแสดงว่าเขาผิดถนัด
ว่าตามทฤษฎีแล้ว การลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย รัฐบาลของนายคาเมรอนทำเป็นหูทวนลมไปก็ได้ แต่แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเสียงให้ออกจากอียูย่อมจะไม่ยอมแน่นอน
แต่การที่ผลออกมาเฉียดฉิวขนาดนั้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการเรียกร้องให้ “โหวตใหม่อีกครั้ง” เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าคนของสหราชอาณาจักรต้องการอย่างนั้นจริง ๆ
เมื่อปี 1975 การลงประชามติต่อคำถามว่า อังกฤษจะเข้าร่วมกับสหภาพเศรษฐฏิจยุโรป (European Economic Community) ผลออกมาคือ 67.2% ต้องการเข้าร่วม ซึ่งเท่ากับเป็น “เสียงส่วนใหญ่ที่ชัดเจน”
อีกเหตุผลหนึ่งที่มีคนนำมากล่าวอ้างว่าควรจะมีการโหวตรอบใหม่ คือประโยคเด็ดของนาย Nigel Farage ซึ่งเป็นแกนนำในการสนับสนุนให้อังกฤษออกจากอียูที่เคยประกาศว่า
“ถ้าฝ่าย Remain ชนะ 52 ต่อ 48 ก็ย่อมแปลว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ ต้องมีการโหวตใหม่ จึงจะสะท้อนความต้องการของประชาชนคนสหราชอาณาจักร
ที่เขาพูดอย่างนี้เพราะโพลหลายสำนัก ก่อนลงประชามติบอกว่าฝ่าย Remain จะชนะฝ่าย Leave ด้วยคะแนนเส้นยาแดงผ่าแปด
แต่เมื่อผลออกมาสลับกันอย่างนี้ ฝ่าย Remain ก็สามารถอ้างเหตุผลเดียวกันเพื่อให้มีการลงประชามติอีกรอบใหม่ “เพื่อความชัดเจน” เช่นกัน
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความเคลื่อนไหวให้มีการโหวตใหม่ ก็คือรายงานข่าวในสื่อหลายสำนัก ว่าคนที่ไปหย่อนบัตรให้ Leave นั้นเกิดอาการ “ตกใจ” เมื่อผลออกมาอย่างนี้ เพราะหลายคนที่ลงคะแนนเสียงให้อังกฤษออกจากอียูนั้น ไปใช้สิทธิเช่นนั้นก็เพื่อจะเป็น “เสียงประท้วง” เท่านั้น ไม่ได้คิดว่าผลจะออกมาให้อังกฤษผละจากสหภาพยุโรปจริง ๆ
แต่ในความเป็นจริงหากเรื่องอย่างนี้เกิดได้ ก็จะเป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์ สำหรับการเมืองโลกเป็นแน่แท้ เพราะในระบอบเลือกตั้งนั้น เฉือนกันแค่หนึ่งคะแนนก็ย่อมต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ
การที่ฝ่ายแพ้จะขอให้มีการลงคะแนนใหม่ ย่อมจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายแไม่จบสิ้น เพราะคนแพ้ครั้งต่อไปก็ย่อมจะขอให้มีการโหวตใหม่ได้เสมอ
แต่การที่มีความเคลื่อนไหวที่อังกฤษ ขอให้มีการทำประชามติ “ซ้ำ” ครั้งนี้ย่อมสะท้อนถึงความผิดปกติ ในกระบวนการการเมืองและสังคมของอังกฤษ ที่ลุ่มลึกและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยได้พบได้เห็นมาก่อน
แผ่นดินไหวใหญ่ที่อังกฤษครั้งนี้ยังจะมี aftershocks ตามมาอีกหลายระลอกครับ