‘อุโมงค์ยักษ์’ กับ ‘น้ำรอระบาย’

‘อุโมงค์ยักษ์’ กับ ‘น้ำรอระบาย’

2-3 วันที่ผ่านมา หลังจากฝนถล่มลงมาอย่างหนัก

 ส่งผลให้การจราจรติดขัดไปทั่วทั้ง กทม. จากน้ำรอการระบาย” ที่มีปริมาณเกินกว่าศักยภาพการจัดการของกรุงเทพมหานคร

แน่นอนว่า“เป้า” ในการตำหนิติติงย่อมไม่พ้นไปจากท่านผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามถึงการสร้าง “อุโมงค์ยักษ์” 4 แห่ง มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ในช่วงปลายของการเป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยแรก ที่ประเดิมเปิดใช้ “อุโมงค์พระรามเก้า” มาตั้งแต่ปี 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่

ขณะนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ ออกมายืนยันถึงความสามารถในการ “จัดการ” กับน้ำท่วมขัง พร้อมกับติดป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ และป้ายโฆษณาตามป้ายรถเมล์ทั่วทั้ง กทม. 

ชี้ชวนว่าระบบอุโมงค์ยักษ์ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้มากกว่า 2 เท่า

และโครงการนี้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ “ชายหมู” ได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ในหนที่สอง นอกเหนือไปจากการระดมแคมเปญ ไม่เลือกเราเขามาแน่

ย้อนไปเมื่อ 12 พ.ย.2553 หรือกว่า 5 ปีก่อน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เปิดแถลงถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในกรุงเทพมหานคร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหนัก 

โดยจะมุ่งเน้นการจัดการปัญหาด้วยการนำปัญหา ไม่ใช่ตามปัญหา" 

ระบุว่าการจัดการปัญหาน้ำท่วมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาแบบไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี และยังใช้งบประมาณสิ้นเปลือง 

จึงเป็นที่มาของ “ระบบอุโมงค์ยักษ์” เพื่อบูรณาการ ป้องกันการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ให้เกิดผลอย่าง“ยั่งยืน”

ดังนั้นเมื่อเกิดน้ำท่วมขัง หรือน้ำเอ่อนองรอการระบายเมื่อใด จึงมีคำทวงถามถึงอุโมงค์ระบายน้ำของ กทม.ทุกครั้งไป

อุโมงค์ยักษ์พระรามเป็นอุโมงค์ระบายน้ำแห่งแรกของกทม. มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตรระยะทางยาว 5 ก.ม. มีความสามารถในการระบายน้ำมากกว่า 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวาง และสะพานสูง

แม้ว่าจะก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยมาหลายปี แต่ผลงานก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

ส่วนอุโมงค์ยักษ์แห่งที่สอง อุโมงค์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร ที่จะทำหน้าที่ระบายน้ำในพื้นที่ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร พญาไท ดุสิต และบางซื่อ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ระยะทาง 6 ก.ม. 

ตามแผนจะก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยในปลายปีนี้ แต่ล่าสุดมีเหตุให้ต้องเลื่อนกำหนดการออกไปเป็นต้นปี 2560

และอีก 2 แห่งที่กำลังจะตามมาคือ อุโมงค์สวนหลวง ร.9 ที่มีขนาดเดียวกัน มีความยาว 9.5 กิโลเมตร และอุโมงค์ยักษ์ดอนเมืองที่มีความยาวมากที่สุดและใหญ่สุด มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 6 เมตร ยาว 13.5 ก.ม.

โดยหลักการทุกอุโมงค์จะผันน้ำจากจุดน้ำท่วม ลัดตรงลงอุโมงค์ยักษ์ใต้ดิน และไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อลงไปยังอ่าวไทย เป็นทางด่วนใต้ดินในการระบายน้ำปริมาณมากลงใต้เมือง

แต่ในการประเดิมใช้งานอุโมงค์พระรามเก้า เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ยังพบปัญหาในเรื่องการจัดการ ที่อุโมงค์ยักษ์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และมีอุปสรรคที่ทำให้ลำเลียงน้ำมาระบายน้ำไม่ได้        

จึงยังคงเป็นคำถาม“คาใจ” ของคนกทม.ว่าอุโมงค์ยักษ์แห่งนี้ทำงานได้จริงหรือไม่

และจะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในอนาคต?

ในขณะที่หลายต่อหลายครั้งในห้วงของการเป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่ 2 ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังของ กทม.ที่ต้องใช้เวลา “รอ”การระบายน้ำ กลับมีคำอธิบายจากท่านผู้ว่าฯ ในทำนองว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติ และเป็นเรื่องที่คนกรุงต้องเข้าใจและ“ยอมรับ”ให้ได้

เหมือนล่าสุดที่ออกมาบอกว่า กทม.เป็นเมืองน้ำ เป็นเมืองฝน น้ำต้องตามใจตนเองเพราะน้ำต้องไปที่ต่ำกว่า... ขออย่าเรียกว่าน้ำท่วม ขอให้เรียกน้ำรอระบาย เพราะถ้าน้ำท่วมต้องเป็นเหมือนปี 2554...”

แบบเดียวกับคำแถลงเมื่อคราวน้ำท่วม 25 มี.ค.2558 ที่ยังถูกกล่าวถึงจนทุกวันนี้ 

กทม.เป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยคงไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำท่วม ต้องไปอยู่บนดอย

ในขณะที่เชื่อว่าคนกรุงคงอยากเห็นการแก้ปัญหาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งเร่งรัดคลี่คลายสถานการณ์เฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาระยะยาว“อย่างยั่งยืน”ตามที่เคยสัญญาไว้ มากกว่าวาทกรรมที่ไม่รื่นหู

จึงเป็นไปได้มากว่า“อุโมงค์ยักษ์”ที่เคยมีส่วนช่วยหนุนส่งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.หนที่สอง จะมีส่วนสำคัญอีกครั้งกับการสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” สมัยหน้า หลังหมดวาระในเดือนมี.ค.2560 !!!  

 .....................................

นฤพน เพชรดี  [email protected]