อาคันตุกะพิเศษชื่อ อองซานซูจี

ภาพนี้เกิดขึ้นที่มหาชัย สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2555
หรือเมื่อสี่ปีก่อน ขณะนั้น อองซานซูจี เป็นผู้นำฝ่ายค้าน เรียกร้องประชาธิปไตยให้ประเทศพม่า
พรุ่งนี้อองซานซูจีจะมาเยือนประเทศไทย และจะไปเยือนพี่น้องแรงงานพม่าในหลายๆ จุดที่เธอเคยไปพบปะเพื่อรับทราบถึงความเป็นอยู่ ปัญหาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมไทย
พรุ่งนี้เธอไม่ได้มาในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน หากแต่เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการของ “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” และ “รัฐมนตรีต่างประเทศ” ของพม่าหลังการเลือกตั้ง ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจให้มาบริหารประเทศอย่างล้นหลาม
หากทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศไทยเตรียมเค้กพิเศษ เพื่อให้นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ฮำเพลง Happy Birthday สำหรับอาคันตุกะคนสำคัญคนนี้ก็จะได้ใจผู้มาเยือนไม่น้อย
เพราะพรรค NLD ของเธอเพิ่งจะจัดงานฉลองวันเกิดที่ 71 ของหัวหน้าพรรคคนนี้ ณ ที่ทำการสร้างใหม่ของพรรคเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง
การมาเยือนประเทศไทยของอองซานซูจีมีความหมายมาก เพราะต้องถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่เธอมาเยือนอย่างเป็นทางการ หลังที่เธอได้ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ ในขณะที่ทั้งไทยและพม่า กำลังต้องการผนึกกำลัง เพื่อสร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การเมืองอันพึงปรารถนา
พม่าก้าวจากระบอบเผด็จการทหารยาวนานครึ่งศตวรรษ สู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิมีเสียง แต่ก็ยังต้องสร้างความยั่งยืน ด้วยการทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และมีความเชื่อมั่นในการปกครองที่มีความคิดอ่านหลากหลาย อีกทั้งยังต้องสลายความสงสัยคลางแคลงของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะต้องมาร่วมกันสร้างชาติร่วมกันอย่างเท่าเทียม เปิดเผยและโปร่งใส
ขณะที่ประเทศไทยเองก็ติด “กับดัก” การเมืองที่กำลังหาทางก้าวข้ามความขัดแย้ง และการปกครองโดยทหารเพื่อนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ ด้วยการให้ประชาชนลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. โดยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางความกริ่งเกรงว่าการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ว่า จะมีขึ้นกลางปีหน้านั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และหากเกิดแล้วโฉมหน้าการเมืองไทยจะเป็นเช่นไร
ผมไม่คิดว่าอองซานซูจีกับนายกฯประยุทธ์จะคุยอะไรลึก ๆ เกี่ยวกับการเมืองของแต่ละฝ่าย อาจจะมีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในอันที่จะนำพาประเทศและประชาชนสู่เป้าหมาย ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเท่านั้น
แต่ประเด็นหลักของความร่วมมือ และการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ระหว่างการมาเยือนไทยของอองซานซูจี คือเรื่องพลังงานและแรงงาน
รวมถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษในทวายของพม่า ที่ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสนใจมาตั้งแต่แรก แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม
ไทยกับพม่าได้ประโยชน์จากพลังงานน้ำมันและแก๊ซธรรมชาติไม่น้อย ดังนั้นความร่วมมือจากนี้ไปจึงมีความสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศ อีกทั้งความเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดสนิทสนม ก็ย่อมจะทำให้มีทั้งความร่วมมือ และการแก่งแย่งผลประโยชน์ทั้งจากคนของรัฐและเอกชน ที่จำเป็นจะต้องถกแถลงกันอย่างเปิดเผย ให้เกิดความแน่นแฟ้นในการสานประโยชน์ในอนาคตต่อไป
ประเด็นแรงงานพม่าในไทยเป็นเรื่องใหญ่ ที่อองซานซูจีให้ความสำคัญมาตั้งแต่ยังเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และสำหรับประเทศไทยแล้วก็เป็นหัวข้อที่สำคัญยิ่ง เพราะหากทำให้ถูกต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แรงงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะเพื่อนบ้านก็สามารถแปรเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่หากไม่บริหารอย่างมีประสิทธิภาพก็กลายเป็นปัญหาสังคมหรือหอกข้างแคร่ได้เช่นกัน
การมาเยี่ยมเยียนชาวพม่าในไทยของอองซานซูจีวันนี้ไม่เหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะบทบาทวันนี้เธอคือผู้นำประเทศ จึงเป็นการมาบอกกล่าวถึงทิศทางของบ้านเมือง และมองแรงงานพม่าทั้งในแง่ของการเป็น “แรงงานนอกบ้าน” และอีกบางส่วนที่ควรจะกลับไปเป็น“แรงงานสร้างบ้านสร้างเมือง” ในประเทศของตน
อีกทั้งยังจะไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยที่ราชบุรีด้วย
ว่ากันว่าจะมีลงนามใน MoU ว่าด้วยความร่วมมือในเรื่องแรงงาน (MoU on Labour Cooperation) และข้อตกลงเรื่องการว่าจ้างแรงงาน (Agreement on the Employment of Workers)
และอย่าได้แปลกใจหากจะมีเสียงเรียกร้องให้คนงานพม่าได้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเท่ากับแรงงานไทยทั่วไป การป้องกันสิทธิและสิ่งแวดล้อมของการทำงานขั้นพื้นฐานของแรงงานพม่าด้วย
อีกหัวข้อหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญไม่น้อย คือนอกจากความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแล้ว ผู้นำไทยกับพม่าก็ควรจะต้องแลกเปลี่ยนแนวทางที่ทั้งสองประเทศ จะสามารถผลักดันให้เกิดความเป็นเอกภาพ ของอาเซียนทั้ง 10 เพื่อผลักดันให้เกิดพลังทั้งระหว่างกันเอง และในการต่อรองกับมหาอำนาจจากข้างนอก
เพราะไทยกับพม่าไม่ได้เป็นคู่กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ จึงควรจะมีบทบาทแข็งแกร่ง ในการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และหาทางออกที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายกลาย เป็นชนวนแห่งการเผชิญหน้าร้อนแรงไปกว่านี้