2558 ปีแห่งความผันผวน

2558 ปีแห่งความผันผวน

ดังที่เคยคุยกันไว้หลายครั้งหลายครา ปีที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ตลาดโลกจะฟื้นตัว ปีนั้นจะเป็นปีแห่งความผันผวน

ปี 2557 เป็นรอบแรกของการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกากำลังจะฟื้นตัว ธนาคารกลางหรือ เฟดจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย สิ่งที่ตามมาคือนักลงทุนทำการปรับพอร์ตการลงทุหรือ Asset Rebalancing จากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเช่น พันธบัตรรัฐบาล ไปสู่สินทรัพย์เสี่ยง (Risky assets) เช่น หุ้น แต่เมื่อเฟดเลือกที่จะรอ นักลงทุนจึงต้องทำ Rebalancing หรือ Reallocation กลับไปยังพันธบัตร และรอดูสัญญาณจากเฟดต่อไป … เรียกได้ว่า ปี 2557 เป็นปีแรกของความผันผวนจากการฟื้นตัว หรือ Painful recovery 

ในปีนี้ ดูเหมือนความผันผวนจะลดลงจากปีก่อนหน้า เพราะแนวโน้มของการฟื้นตัวค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีความชัดเจนมาก การให้สัญญาณจากเฟดมาโดยตลอด รวมถึงการเตรียมรับมือของนักลงทุนตั้งแต่ปีก่อนหน้า แต่สถานการณ์กลับแตกต่างจากที่เราคิดเพียงเพราะการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลต่อ Asset Rebalancing ครั้งใหญ่เพราะ Expected return และ Correlation ระหว่าง Asset class แต่ละคู่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ในปี 2557 ค่าความผันผวนหรือ Volatility ของดัชนีอย่าง Dow Jones อยู่ที่ 9.3-14.7% และขยับขึ้นมาเป็น 12.7-22.7% แต่นั่นถือว่ายังพอรับได้สำหรับหลักทรัพย์อย่างหุ้นนะครับ ที่หนักกว่านั้นคือ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ Nymex ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันขยับจาก 13.4-45.9% เป็น 36.4-73.9% … ต้องไม่ลืมว่า 70% นี่เป็นระดับความผันผวนที่มักเห็นในช่วง Crisis เท่านั้นนะครับ

การปรับลงของราคา Commodity ที่นำโดยน้ำมันดิบและโลหะนั้นไม่เพียงทำให้กิจการขนาดใหญ่ปิดตัวลง รวมถึง Hedge fund หลายกองเช่นกัน ส่วนรายที่ยังดำเนินการอยู่ได้มีการปรับกลยุทธ์กันอย่างต่อเนื่อง Hedge fund ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นกลุ่มที่เล่นบน Macro strategies (ซึ่ง Bet บนสกุลเงินต่างๆ โดยอ้างอิงจากฐานะการเงินการคลังและการส่งออกของประเทศนั้นๆ) Macro Hedge Fund ถูกปิดตัวลงหลายกองทุน รวมถึงที่บริหารโดย Blackrock และ Fortress ซึ่งทั้งคู่ Loss จากการ Bet บนสกุลเงินสวิสฟรังซ์ว่าจะอ่อนค่า แต่ CHF กลับแข็งค่าขึ้นอย่างมากหลังจากธนาคารกลางตัดสินใจลอยตัวค่าเงินที่เคย peg ไว้กับ EUR นอกจาก Blackrock จะพลาดท่าต่อ CHF แล้ว ยังโดน Renminbi หรือ หยวนอ่อนค่า และราคาน้ำมันที่ไหลลงจาก $66 แตะ $37 ในปลายปี 2558 นี้เอง

ไม่ใช่ว่าในปีนี้จะมีแต่ความไม่แน่นอนอันนำมาซึ่งความผันผวนของตลาดการลงทุนทั่วโลก เพราะยังพอมีความแน่นอนให้เราเห็นอยู่บ้าง กรณีแรกคือ การที่กนง.บ้านเราตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ต่อเนื่องมาตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สวนทางกับฝั่งของสหรัฐฯ เอง ซึ่งเฟดได้ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% point จาก 0-0.25% เป็น 0.25-0.50% เรียกได้ว่า “ฝัน” ของนักลงทุนทุกรายทั่วโลก “เป็นจริง” แล้ว การปรับขึ้นในครั้งนี้ย่อมลดความเคลือบแคลงสงสัย การคาดการณ์ที่เปลี่ยนไปมา ได้อย่างแน่นอน ค่าเงินสกุลหลักไม่ได้ปรับขึ้นมากนักเพราะอ่อนค่ามารอตั้งแต่ชาติเศษแล้ว

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีการตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเชิงบวกโดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน ส่วนตลาดดอกเบี้ยนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10ปี ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมิได้ปรับตัวขึ้นรุนแรงแต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะ Inflation expectation ระยะยาวยังคงไม่เป็นที่น่ากังวล โดย Yield ของ US Treasury 10ปี ปรับขึ้นเพียง 3-4bps สอดคล้องกับแนวทางของเฟดที่จะให้ความสำคัญต่อทิศทางเงินเฟ้อมากกว่าตลาดแรงงานที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมาโดยตลอด

ปัจจัยที่เราถือว่าเป็นสัญญาณสะท้อนมุมมองตลาดต่อนโยบายของเฟดได้ดีคือ ดอกเบี้ยสวอประยะสั้นๆ ของสหรัฐฯ หรือ USD Interest Rate Swap (IRS) สังเกตุได้ว่า หลังจากที่เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนตุลาคม USD IRS ซึ่งแสดงด้วยเส้นกราฟสีเขียวมีการปรับตัวลงจาก0.54% สู่ระดับ 0.42% แต่เมื่อเฟดส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะมีขึ้นในการประชุมครั้งถัดไปเดือนธันวาคมนั้น USD IRS อายุ 1 ปี ได้ปรับตัวสูงขึ้นแบบ One-way ticket แตะระดับล่าสุดที่ 0.74% สอดคล้องกับ USD Index ที่เปรียบเทียบ USD กับสกุลเงินต่างๆตามสัดส่วนของการส่งออกของสหรัฐฯ สิ่งที่สวนทางกับ USD Index และ USD IRS เห็นจะมีเพียง Commodity Index (กราฟสีน้ำเงิน) ที่ปรับตัวลงกว่า 25% จากต้นปี

ปัจจัยเสี่ยงสำหรับปีหน้ายังคงเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคเหล็กและน้ำมัน ระดับราคาน้ำมันที่ยังไม่มีท่าทีฟื้นตัวย่อมส่งผลต่อฐานะการคลังของประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลักอย่างรัสเซีย (ประเทศในตะวันออกกลางในกลุ่ม OPEC ยังคงมีสถานะการคลังที่แข็งแกร่งมาก) และอาจมีผลต่อสภาพคล่องและอันดับเครดิตของยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในรัสเซียอีกด้วย ส่วนประเทศไทยนั้น แม้การเติบโตของ GDP ในระยะสั้นจะต้องมาจากการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคในประเทศ อุปสรรคยังคงอยู่ที่ความสามารถในการเบิกจ่ายและระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ....สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญในปีพ.ศ.2559 และมีพอร์ตการลงทุนที่ทนทุกสภาพอากาศตลาดนะครับ