ก้าวต่อไปของพม่า : เบื้องหลัง ‘ภาษากาย’ ของตัวละครเอก?

เจอกันแล้วเมื่อวันพุธที่ผ่านมา... อองซานซูจี กับผู้บัญชาการทหารบก
พลเอกมินอ่องหลาย และ ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่เมืองหลวงเนปิดอว์
เป็นการแยกกันเจอ แต่เป็นวันเดียวกัน
ต่อจากนั้นมีข่าวจากบีบีซีภาคภาษาพม่า บอกว่าอองซานซูจี ได้เจอกับนายพลตานฉ่วย ผู้นำอำนาจเบ็ดเสร็จคนก่อนของกองทัพอีกด้วย
ก่อนหน้าเธอก็ได้พบกับประธานสภา นายพลฉ่วยมาน ที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นพันธมิตรทางด้านการเมืองกันอยู่ แม้จะสอบตกในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ของทหาร ก็ยังมีบารมีอยู่ในแวดวงการเมืองระดับหนึ่ง
หลังการจับมือของตัวละครหลักของการเมืองพม่า ยังไม่มีการชี้แจงกับประชาชนว่าจะเดินหน้า “ปรองดอง” กันในรูปแบบใด
มีแต่คำยืนยันจากทุกฝ่ายว่าจะร่วมมือกัน เพื่อจะนำพาประเทศให้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ตามต้องการของประชาชน ที่ได้ลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นให้พรรค NLD ของอองซานซูจีเป็นผู้บริหารประเทศ
แถลงการณ์สั้น ๆ ของกองทัพหลังจากการพบปะครั้งประวัติศาสตร์บอกเพียงว่า
“ระหว่างการพบปะหารือกัน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเดินตามความต้องการของประชาชน ที่จะประสานงานร่วมกันเพื่อเสถียรภาพ นิติรัฐ ความสมานฉันท์และการพัฒนาของประเทศ”
ที่ว่าเป็นประวัติศาสตร์เพราะการเจอกันครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้บัญชาการทหารบก กับผู้นำฝ่ายค้านนั่งลงคุยกันต่อหน้าต่อตา ตั้งแต่นายพลมินอ่องหลายได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในกองทัพเมื่อปี 2011
ที่น่าสนใจคือคำแถลงของกองทัพใช้คำว่า collaborate ไม่ใช่ cooperate
คำหลังแปลว่า “ร่วมมือ” เฉย ๆ แต่คำแรกมีความหมายที่จะต้องสอดประสานกันให้เกิดประสิทธิภาพด้วย
คำถามสำคัญคือเมื่ออองซานซูจีมีอำนาจบริหารบ้านเมืองสูงสุด ขณะที่ทหารยังมีอำนาจบารมีอยู่ ทั้งสองฝ่ายจะเดินไปด้วยกันได้เพียงใด?
อองซานซูจีบอกนักข่าวฝรั่งว่า เธอยอมรับว่าบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าได้ ทหารต้องมีบทบาทในระดับที่เหมาะสม
นายพลมินอ่องหลายบอกนักข่าวคนเดียวกันว่าเขาเชื่อว่าเขาทำงานกับอองซานซูจีได้
นักข่าวพม่าตั้งข้อสังเกตว่าในการพบกับประธานาธิบดีเต็งเส่งตอนเช้า ที่ทำเนียบประธานาธิบดีนั้น เต็งเส่งส่งโฆษกประจำทำเนียบชื่อ Ye Htut มารับเธอที่หน้าประตู ก่อนพาเธอเข้าไปพบกับประธานาธิบดีในห้องประชุมภายใน
แต่ในช่วงบ่าย นายพลมินอ่องหลาย ออกมายืนต้อนรับอองซานซูยี ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มด้วยตัวเอง ยืนให้ช่างภาพถ่ายรูปก่อนที่ทั้งสองจะเดินเข้าห้องประชุมด้วยกัน
โฆษกรัฐบาลบอกว่าสองเรื่องที่นักข่าวอยากรู้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการลดบทบาททางการเมืองของทหารไม่ใช่หัวข้อสนทนาของอองซานซูจีกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง
ที่คุยกันคือเรื่อง “การกำหนดวางประเพณีใหม่ที่ไม่เคยมีในพม่า นั่นคือการถ่ายโอนหน้าที่ของหัวหน้ารัฐบาลอย่างเป็นระบบ” เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างสันติเมื่อรัฐบาลปัจจุบันหมดอายุ (ปลายเดือนมี.ค.)
โฆษกบอกว่าได้มีการเปิดช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับพรรค NLD ของอองซานซูจีแล้ว
โฆษกรัฐบาลบอกว่าอองซานซูจี ขอบคุณประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่จัดการเลือกตั้งได้เสรีและยุติธรรม ตามที่รับปากกับประชาชน และที่ยอมให้เธอมีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2012
หากตีความจากถ้อยแถลงทางการที่ยังไม่มีรายละเอียดใด ๆ หรือสังเกตจาก “ภาษากาย” และรอยยิ้มของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าช่างภาพและนักข่าว ก็น่าจะยังมีการพูดจากันอีกหลายรอบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการก่อนที่จะตกลงกันในรายละเอียดได้
เงื่อนไขสำคัญที่สุดก็คือทางทหารจะยอมยกมือร่วมกับ NLD ในรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้อองซานซูจีดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีหรือไม่
หากไม่ยอม ซูจีก็ได้บอกได้ล่วงหน้าแล้วว่าเธอมีวิธีการที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศสูงสุดโดยไม่ต้องมีตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างไร
ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่จะต้องพูดจากันอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะบทบาทของทหารในรัฐสภาและการเมือง บทบาทของชาติพันธุ์ การเดินหน้าทำสัญญาสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย ที่ยังไม่เข้าร่วมกระบวนการปรองดอง และนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังรอแนวทางที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่
ชนะศึกว่ายากแล้ว เอาชนะสันติภาพยากกว่าเป็นไหน ๆ