ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

เมื่อพูดถึงความเสี่ยง ความรู้สึกของผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจทั่วไปมักจะนึกถึงแต่เรื่องที่เป็นด้านลบ

การทำธุรกิจในปัจจุบันเรื่องของความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากเรื่องคอร์รับชั่นหรือการติดสินบนทางธุรกิจ

มักจะนำผลกระทบที่เสียหายได้ในระดับสูงต่อการดำเนินธุรกิจและเป็นเรื่องที่ธุรกิจจะต้องหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น

ความรู้สึกในทำนองนี้ ทำให้ธุรกิจอาจพลาดโอกาสที่ดีไป หรือปล่อยให้โอกาสทางธุรกิจผ่านไปเฉยๆ เนื่องจากในกระบวนการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ ไม่ได้รวมการประเมินโอกาสด้านบวกควบคู่ไปกับการประเมินผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงทางธุรกิจ

โดยธรรมชาติของธุรกิจแล้ว ความเสี่ยงกับโอกาส มักจะเป็นของที่ควบคู่กันไปเสมอ เหมือนกับเหรียญอันหนึ่งที่มี 2 หน้าในตัวเอง

ดังนั้น ในขั้นตอนการประเมินและจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจที่ใช้แนวทางบริหารจัดการสมัยใหม่ จึงต้องรวมขั้นตอนการประเมินโอกาสทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นไปไปพร้อมๆ กัน

ธุรกิจที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ความเสี่ยงควบคู่ไปกับการวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดขึ้น จะกลายเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน พร้อมที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างคล่องตัวท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน

ในทางวิชาการ จะมีคำศัพท์เรียกธุรกิจที่มีความพร้อมที่จะรับมือกับทั้งความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นนี้ว่า Ambidextrous organization ที่แปลตรงตัวว่า องค์กรที่ถนัดใช้ทั้ง 2 มือ

การสร้างองค์กรธุรกิจให้เป็นองค์กรที่ถนัดทั้ง 2 มือนี้ อาจทำให้ธุรกิจสามารถค้นพบและสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้

การประเมินและจัดการความเสี่ยงที่ใช้กันอยู่เดิม มักจะประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1)การชี้บ่งเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง 2)การประเมินผลกระทบที่จะเกิดจากความเสี่ยง 3)การกำหนดแนวทางแก้ไขและกอบกู้สถานการณ์ฉุกเฉิน 4) วิธีการควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามระบบ 5)การติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงข้อมูล และ 6) วิธีการตรวจและเฝ้าตาม

ส่วนวิธีการในการประเมินและการจัดการความเสี่ยงที่ควบคู่ไปกับโอกาส อาจทำได้โดยการปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่ใช้กันอยู่เดิม โดยเพิ่มเติมขั้นตอนของการวิเคราะห์โอกาสเพิ่มเข้าไป โดยอาจทำได้ดังนี้

โดยเน้นไปที่ แหล่งกำเนิดของความเสี่ยง และโอกาส

แหล่งกำเนิดของความเสี่ยง อาจแบ่งเป็น ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจได้เพียงอย่างเดียว หรือ ความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโอกาส (Rewarded risks) ส่วนแหล่งกำเนิดของโอกาส อาจเป็นนวัตกรรม หรือวิธีการที่สามารถนำมาใช้ลด หรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้

การวิเคราะห์โอกาส อาจแบ่งเป็น โอกาสภายในธุรกิจ เช่น กระบวนการทำงาน กระบวนการผลิต หรือ กระบวนการทางการตลาด และ โอกาสภายนอก เช่น จากสังคม กฎหมาย การเมือง เทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น

โดยในเรื่องที่เกี่ยวกับความเสี่ยงจะเน้นไปที่ การประเมินความเสี่ยงและโอกาสเชิงธุรกิจ การปรับเปลี่ยนระดับของความเสี่ยงที่ยอมรับได้ให้เหมาะสม กำหนดวิธีการจัดการความเสี่ยงแต่ละข้อว่า ควรจะ กระจายความเสี่ยงออกไป ส่งผ่านความเสี่ยงไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่น หรือ ลดความเสี่ยง ประเมินโอกาสที่อาจเกิดขึ้น

ส่วนการประเมินโอกาส จะเน้นไปที่กลยุทธ์การแสวงหาผลตอบแทนจากโอกาส ต้นทุนหรือการลงทุนที่ต้องใช้เพิ่ม ระบบและโครงสร้างการบริหารจัดการ รวมไปถึงระดับของความเสี่ยงที่ยอมรับได้จากการแสวงหาโอกาส

แนวทางในการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มระดับการยอมรับความเสี่ยง หรือเพิ่มโอกาส ที่ทำได้ง่ายและมีส่วนสำคัญที่สุดก็คือ การเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้แก่พนักงานทุกระดับขั้นในเรื่องของการวิเคราะห์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงและโอกาส

เมื่อบุคลากรภายในธุรกิจ มองเห็นถึงความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดความรับผิดชอบที่สูงขึ้นในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบอยู่

ซึ่งอาจประเมินในรูปของผลตอบแทนต่อการลงทุน (ROI) หรือประเมินสถานการณ์ (Scenario analysis) เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่จะแสวงหาประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยง

ภาพเหตุการณ์ตัวอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีของความเสี่ยงและโอกาสที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กัน เช่น ในการณีของร้านอาหารจานด่วนประเภทที่อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคอ้วน อาจมองเห็นความเสี่ยงต่อยอดขายเนื่องจากผู้คนจะลดหรืองดซื้ออาหารเหล่านี้มาบริโภค อาจใช้โอกาสในการปรับปรุงอาหารให้มีส่วนประกอบที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น เช่นการเพิ่มผัก หรือสลัดควบคู่ไปเป็นชุด

หรืออาจก้าวไปถึงขั้นคิดสร้างนวัตกรรมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจสูงขึ้น

ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้ธุรกิจรถยนต์หลายๆ แห่งมองเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมยานยนต์ เช่น รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฮโดรเจน หรือรถยนต์ไฟฟ้า ขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเดิม

ความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ อาจทำให้ธุรกิจมองเห็นโอกาสที่จะขยายอายุเกษียณออกไป หรือพัฒนาระบบการจ้างงานผู้เกษียณอายุ หรือสร้างระบบรองรับที่จะให้ผู้เกษียณอายุที่ยังมีความสามารถและสมัครใจที่จะทำงานให้ได้ทำงานพิเศษเป็นโครงการ ฯลฯ เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนของธุรกิจและการบริหารจัดการธุรกิจในปัจจุบัน เรื่องของการประเมินความเสี่ยงและการระบุโอกาสที่จะเกิดควบคู่ไปกับความเสี่ยงนั้นๆ จึงเป็นดัชนีที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่จะใช้ชี้วัดประสิทธิภาพและความยั่งยืนของธุรกิจ