องค์กรรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21

องค์กรรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21

แนวโน้มหนึ่งทางด้านการบริหารจัดการที่เริ่มจะเห็นมากขึ้นก็คือ แนวคิดที่เกี่ยวกับองค์กรและการบริหารงานในรูปแบบ

ใหม่ๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้เริ่มมีแนวคิดว่า องค์กรและการบริหารงานในรูปแบบเดิมๆ นั้น จะไม่เหมาะสมอีกต่อไป ผมไปพบเจอบทความทั้งในนิตยสารThe Economist (ชื่อบทความ Reinventing the company) และนิตยสารFortune (ชื่อบทความ 21st century corporation) ที่ได้พยายามนำเสนอแนวคิดว่า องค์กร(โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจ)จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปถึงจะสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้

สาเหตุที่องค์กรจะต้องเปลี่ยนรูปแบบไปนั้น ก็เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญหลายประการ แต่สาเหตุที่สำคัญสุดก็คือ กฎแห่งความสำเร็จขององค์กรได้เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยแห่งความสำเร็จหลายๆ ประการ ที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในอดีต จะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปในศตวรรษใหม่นี้

ตัวอย่างสำคัญของปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กร ที่ต้องเปลี่ยนไปคือ ทุน หรือ Capital ในอดีต (หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน) ทุนถือเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจ เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จนั้น มักจะ ทุนหนาอย่างไรก็ดี จากตัวอย่างขององค์กรรูปแบบใหม่ เราจะพบว่า บทบาทของทุนนั้นเปลี่ยนไป องค์กรจะสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องสะสมหรือมีทุนจำนวนมาก

ตัวอย่างง่ายสุดคือ Apple ครับApple ถูกทางการสหรัฐจัดว่าให้เป็นบริษัททางด้านการผลิตหรือ Manufacturing แต่เมื่อเราพิจารณาโดยละเอียดแล้ว Apple ไม่ได้สะสมทุนเหมือนกับบริษัทที่เป็นการผลิตทั้งหลายเลย Apple จ้าง Foxconn ผลิตแม้กระทั่งตัว iCloud ที่เราใช้กันอยู่นั้นApple ก็ไปเช่า Server ของคนอื่นใช้

ทุนทั้งหมดของ Apple มีอยู่ที่172 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่639 พันล้านดอลลาร์ และเมื่อเทียบกับ Exxon Mobil ที่มีทุนอยู่ที่304 พันล้านดอลลาร์ แต่กลับมีมูลค่าอยู่ที่330 พันล้านดอลลาร์ ท่านผู้อ่านอาจจะมองว่า เราไม่สามารถนำบริษัทในคนละอุตสาหกรรมมาเปรียบเทียบกันได้ อย่างนั้นเราลองดูตัวอย่างของ Airbnb ก็ได้ครับ ที่ในปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการห้องพัก ที่มีจำนวนห้องให้บริการมากที่สุดในโลก แต่ Airbnb กลับไม่ได้เป็นเจ้าของตึกหรือที่ดินใดๆ เลย หรือUber ที่เป็นผู้บริการรถสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์เลย

ปัจจัยต่อเนื่องมาจากทุนก็คือ องค์กรในยุคใหม่นั้น ทุนที่มีค่าที่สุดขององค์กรจะไม่ใช่บรรดาสินทรัพย์ที่มีตัวตน(Physical Asset) อีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็นบรรดาทุนที่จับต้องไม่ได้ทั้งหลาย เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ซอฟต์แวร์ แบรนด์ความรู้ นวัตกรรมแนวคิดใหม่ๆ เป็นต้น ซึ่งบทความในวารสาร Fortune เรียกธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ว่า Idea-Based Business

ปัจจัยต่อมาคือ บรรดา Startups ทั้งหลายที่กำลังผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด (ในประเทศไทยเองกระแสของการสร้าง Startups ก็กำลังมาแรง) ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่า Startups เหล่านี้เป็นบริษัทเกิดใหม่เล็กๆ จะสามารถโค่นองค์กรใหญ่ๆ ที่มีทุนหนาและอยู่มานานได้อย่างไร? แต่ตัวอย่างเราก็มีให้เห็นแล้วนะครับว่า Startups จำนวนมากไม่ได้แข่งขันโดยตรงกับองค์กรหรือธุรกิจรูปแบบเดิมที่มีอยู่ แต่เขาสามารถเปลี่ยนกฎและรูปแบบในการแข่งขันเสียใหม่ ที่ทำให้กฎในการแข่งขันแบบเดิมๆ ล้าสมัยไปเสียแล้ว ตัวอย่างที่ได้ยกมาก่อนหน้านี้ก็คือ Airbnb กับธุรกิจโรงแรม หรือ Uber ในธุรกิจแท็กซี่

แม้กระทั่งในธุรกิจที่เรานึกไม่ถึง อย่างเช่น แว่นสายตา ก็มีบริษัทอย่าง Warby Parker (ได้รับการยกย่องเป็น most innovative company ในโลกนี้จากนิตยสาร Fast Company)ที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบและกฎในการแข่งขัน สำหรับธุรกิจแว่นสายตา หรือแม้กระทั่งในธุรกิจสถาบันการเงิน ที่ปัจจุบันผู้ที่ประสงค์จะกู้เงินเพื่อทำธุรกิจนั้น ก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งจากบรรดา Venture Capital หรือ Crowd Funding ต่างๆ

ประเด็นที่น่ากลัวสำหรับองค์กรรูปแบบเดิมก็คือ พวกองค์กรใหม่ๆ นั้น จะไม่ได้เน้นที่กำไรเป็นหลักเหมือนในอดีต บริษัทจำนวนมากพร้อมที่จะสละกำไรให้ได้น้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งยอมขาดทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งการเติบโต ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Amazon ที่ประกาศไว้ชัดเจนเลยว่า จะยอมสละกำไรเพื่อการเติบโต ซึ่งจะตรงข้ามกับองค์กรในยุคปัจจุบันจำนวนมาก

ดังนั้น ท่านผู้อ่านควรจะมาทบทวนองค์กรตนเองนะครับว่า ในปัจจุบันรูปแบบแนวคิดการบริหารองค์กรของท่าน ยังอยู่ในรูปแบบเดิมๆ หรือว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์กรในศตวรรษที่ 21 หรือยัง?