ใต้กระแส “สังคมศาสตร์และสังคมไทย”

ใต้กระแส “สังคมศาสตร์และสังคมไทย”

ผมได้รับเกียรติเชิญให้ไปร่วมเสวนาเรื่อง “5 ทศวรรษ / จับกระแสสังคมศาสตร์ไทย” จัดโดย ภาควิชาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา จึงถือโอกาสหยิบบางประเด็นมาเขียนเล่าสู่กันฟังครับ


ขอเลือกหยิบประเด็นท้ายในวันนั้นมาคุยนะครับ เพราะหากเอาทุกประเด็นก็คงจะยาวเกินไป


ผมมีความเห็นว่านักสังคมศาสตร์ไทยในอนาคตหรือนักสังคมศาสตร์รุ่นใหม่กำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการทำงานวิชาการมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “สังคมไทย” เปลี่ยนแปลง/เปลี่ยนรูปไปมากจนกระทั่งว่าการเข้าใจภาพรวมว่าสังคมเป็นอย่างไรกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง


สภาวะสังคมไทยที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงสภาพของสังคมที่แยกย่อย (Fragmented Society) อย่างลึกซึ้งและไพศาล ลองจินตนาการชีวิตประจำวันของพวกเราดูซิครับ พวกเราเองแทบจะไม่ได้คบหาสมาคมกับใครที่ไหนนอกจากกลุ่มที่ทำงานร่วมกัน และในกลุ่มที่ทำงานร่วมกันก็แยกเป็นก๊กเป็นเหล่าจนทำได้เพียงยิ้มหรือพูดคุยกันอย่างเป็นทางการเท่านั้น


ในระดับสังคมเอง ก็จะพบว่าคนแต่ละกลุ่มนอกจากจะไม่ได้พบปะกันแล้ว ก็ยังมีภาพของคนกลุ่มอื่นว่าจะมาทำให้เกิดความยุ่งยาก/รังควานชีวิตของตน การตั้งป้อมมองคนกลุ่มอื่นว่าเป็น “คนอื่น” เป็นเรื่องปรกติโดยทั่วไป โอกาสที่จะได้เชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมให้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันเหลือเพียงแต่ใน “ม็อบ” เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น “ม็อบ” แบบไหน จะเป็นแบบการเมืองตรงไปตรงมาหรือ ม็อบกิจกรรมการเมืองแบบซ่อนนัยอยู่ก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยเป็นพวกติด “ม็อบ” (พวกที่คิดอธิบายเพียงแต่อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ ในความเป็นจริงแล้วก็เป็นพวก “ติดม็อบ” ฮา )


สภาวะที่เกิดการแยกย่อยในความสัมพันธ์ทางสังคมเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความหมายของคำว่า “สังคม” แบบที่เราเข้าใจกันอยู่ในปัจจุบันสูญสลายไป คำว่า “สังคม” เดิมถูกใช้ในหมายถึง “การสมาคม” แต่ต่อมาเมื่อคนได้ถักทอสายใยความสัมพันธ์กันแนบแน่นและกว้างขวางขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยเกิดขึ้นภายใต้รัฐชาติที่เกิดขึ้นมาใหม่ คำว่า “สังคม” จึงมีความหมายใหม่อันหมายถึงคุณภาพของการรวมกลุ่มกันเป็นหน่วยทางสังคมหนึ่ง ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมร้อยรัดผู้คนเอาไว้ เช่น ชาติ และส่วนที่เป็นรูปธรรม เช่นการทำมาหากินที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสภานให้นิยามไว้ว่า คนจํานวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สําคัญร่วมกัน )


Raymond William ได้อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่า “Society” ในสังคมตะวันตกไว้ในกรอบความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันนี้ในหนังสือชื่อว่า “Keywords: A Vocabulary of Culture and Society” แต่ท่านไม่ได้อธิบายมาถึงสภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกาล


สำหรับสังคมไทย สภาวะสังคมที่แยกย่อยเข้มข้นนี้ ได้เปลี่ยนแปลงคุณภาพของ “สังคม” ไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะพบกับสายใยความสัมพันธ์แบบเดิม/เหมือนเดิมอีกต่อไป กล่าวได้ว่าสภาวะของสังคมในวันนี้ ก็คือ “สังคมตายแล้ว” ( Dead Society ) เพราะสายใยความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆถูกทำให้เสื่อมสลายไป อำนาจรัฐและกฏหมายซึ่งก็ไม่น่าไว้ว่างใจก็ได้กลายเป็นหลักเดียวที่พอจะเหลืออยู่ในการประกันความสัมพันธ์ของผู้คน


ความตายของสังคม (The Death of Society) เป็นเรื่องที่เราพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่เราไม่ทันตระหนักว่าปรากฏการณ์ที่เราเผชิญอยู่นั้นมีความหมายสะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับคุณภาพของสังคมอย่างไร


นับจากนี้ไป ความหมาย “สังคม” จะต้องแปรเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะเกิดคำใหม่ขึ้นมาแทนเพื่อทำให้คนในสังคมเช้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสรรพสิ่งรอบตัวและเข้าใจได้ว่าเขาจะจัดความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งอย่างไร


จินตนาการที่แหว่งวิ่นและปฏิบัติการณ์ทางสังคมที่ไม่สอดคล้องกับคุณภาพของ “สังคม” ที่แปรเปลี่ยนทิ้งรูปเดิมไปแล้วก็จะก่อให้เกิดความสับสน/อึดอัด/เจ็บปวดมากขึ้นโดยถ้วนทั่วกัน


นักสังคมศาสตร์ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการศึกษาทำความเข้าใจ “บริบทอันใหม่” ที่เกิดขึ้น ความรู้ทางสังคมศาสตร์ชุดต่างๆ ที่เคยร่ำเรียนมาก็จะหมดพลังในการอธิบายไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน พันธะกิจของนักสังคมศาสตร์ไม่ได้มีเพียงแค่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม หากแต่หลักการของสังคมศาสตร์อยู่ที่การสร้างชุดความรู้ที่เป็นการแสวงหาหนทางให้คนทั้งหมดได้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และเคารพในความเป็นมนุษย์ร่วมกัน


หากพันธะกิจตามหลักการนี้ยังคงอยู่ในหัวใจของนักสังคมศาสตร์รุ่นใหม่ งานวิชาการที่พวกเขาจะต้องทำเพื่อรื้อฟื้น/สร้างใหม่สายสัมพันธ์ของผู้คน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด


การเผชิญหน้ากับ “สังคมที่ตายแล้ว” เช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่เน้นเพียง “ปัจเจกชน” กับ “ตลาด” โดยเฉพาะเมื่อเกิดการขยายตลาดเพื่อผลประโยชน์ของทุนในนามของ “อาเซียน” ยิ่งทำให้ “การตายของสังคม” ซ้ำเติมผู้คนในสังคมไทยมากขึ้นไปอีก


ผมจะเตือนนักศึกษาที่เรียกกับผมเสมอมาว่าในช่วงเวลาหนึ่งพันสามร้อยกว่าวันในมหาวิทยาลัยของเขานั้น โลกภายนอกของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปเร็วว่าโลกในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของผม (ซึ่งนานมากแล้ว) ดังนั้น พวกเขาต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีทางที่จะคาดการณ์ใดๆ ได้


ความที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เป็นการเตือนนักสังคมศาสตร์รุ่นใหม่และท่านผู้อ่านทุกท่านว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่เราไม่รู้จัก/ไม่คุ้นเคย แต่เราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องอยู่กับ “มัน” และต้องอยู่อย่างที่ไม่ยอมให้ “มัน” ทำร้ายเราและลูกหลานของเรา


กล่องแพนโดรา (Pandora Box) ได้เปิดออกแล้ว ความทุกข์ยากได้กระจายตัวออกไปจนทั่ว แต่ยังเหลือภูดตัวเล็กอยู่ที่ก้นกล่องได้แก่ “ความหวัง” เท่านั้นที่พอจะเยียวยามนุษย์ให้ลุกขึ้นสู้กับทุกข์ยากนานาประการที่กำลังจะมาถึง