Balanced Scorecard ในปัจจุบัน

Balanced Scorecard ในปัจจุบัน

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงพอจะคุ้นเคย หรือได้ยินเกี่ยวกับแนวคิดของ Balanced Scorecard (BSC) กันบ้าง

โดยคำถามยอดนิยมหนึ่งที่ผมได้รับจากผู้บริหารหลายๆ ท่านก็คือ ในปัจจุบันแนวคิดในเรื่องของ BSC นั้น ได้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือยอดนิยมเหมือนสมัยในอดีตอีกหรือไม่? ดังนั้น สัปดาห์นี้ผมเลยขอพาท่านผู้อ่านมาลองดูนะครับว่าจาก 23 ปีที่ผ่านมา BSC ได้ไปสู่จุดไหนแล้ว

สาเหตุที่ผมระบุว่าเป็น 23 ปีนั้น ก็เนื่องจากแนวคิดเรื่องของ Balanced Scorecard เผยโฉมขึ้นมาครั้งแรกด้วยบทความของ Robert Kaplan และ David Norton ในนิตยสาร Harvard Business Review ในปี 1992 หลังจากนั้นทั้งคู่ก็เขียนทั้งบทความ และหนังสือเกี่ยวกับ BSC ออกมาอีกมากมาย ในช่วงหลังทั้งคู่ไม่ได้มีผลงานใหม่ๆ ที่เป็นชิ้นใหญ่ๆ ออกมา แต่ก็ได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา Palladium (นัยว่าบริษัทนี้ทั้งคู่เป็นผู้มีส่วนร่วมก่อตั้งครับ) ในการจัดอบรม ให้คำปรึกษา และเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ BSC

มาดูที่กระแสของ BSC กันก่อนนะครับ จากข้อมูลของ Bain & Company ปีล่าสุด (2015) ที่เขามีการสำรวจการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่างๆ จากบริษัททั่วโลกเป็นพันๆ แห่ง ผลปรากฏว่า เจ้าBSC ก็เป็น 1 ใน 25 เครื่องมือทางการจัดการ ที่มีคนใช้มากที่สุดทั่วโลก และถ้าไปดูที่ความยอดนิยมในการใช้แล้ว Balanced Scorecard ก็ได้รับโหวตให้เป็นเครื่องมือทางการจัดการยอดนิยมอันดับ 6 ร่วมกับ Mission / Vision Statements

ส่วนเมื่อถามถึงความพึงพอใจในการนำ BSC มาใช้นั้น ผลการสำรวจจาก Bain ก็ระบุว่า Balanced Scorecard ได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 9 จาก 25 เครื่องมือทางการจัดการที่ใช้กันมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลผลการสำรวจของ Bain นั้น ก็พอจะชี้ให้เห็นว่า ในระดับโลกแล้วเจ้าเครื่องมือ Balanced Scorecard นั้น ก็ยังเป็นเครื่องมือที่ยังใช้กันอย่างแพร่หลาย ถึงแม้จะมีอายุมายาวนานถึง 23 ปีแล้วก็ตาม

คราวนี้มาดูพัฒนาการของแนวคิด BSC บ้าง ทาง Kaplan กับ Norton ได้ร่วมกับบริษัท Palladium พัฒนาแนวคิดเรื่อง Execution Premium Process หรือ XPP (แนวคิดและชื่อนี้เขาจดลิขสิทธิ์ไว้นะครับ) โดยแนวคิดเรื่องของ XPP เป็นแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก BSC โดยเป็นการนำเอา BSC มาใช้ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ โดยเขาระบุไว้เลยครับว่าการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (Strategy Execution) นั้น มันมากกว่าเพียงแค่ Balanced Scorecard เพียงอย่างเดียว

โดยแนวคิดของ XPP นั้น ประกอบด้วยขั้นตอนทั้งหมด 6 ขั้น ตั้งแต่ การพัฒนากลยุทธ์ การสื่อสารกลยุทธ์ การทำให้องค์กรสอดคล้องกับกลยุทธ์ การวางแผนการดำเนินงาน การตรวจสอบและเรียนรู้ และสุดท้ายคือการทดสอบและปรับกลยุทธ์

แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ทั้ง Kaplan & Norton และ Palladium ได้พยายามแยกในส่วนของแผนที่กลยุทธ์ (Strategy Map) ออกจากเรื่องของ Balanced Scorecard โดยมองว่าแผนที่กลยุทธ์ จะเป็นเครื่องมือที่ใช้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์ ที่องค์กรต้องการบรรลุ ส่วน Balanced Scorecard นั้น เป็นส่วนของตัวชี้วัด เป้าหมาย และแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำ

ซึ่งในช่วงหลังทั้ง Palladium ก็ได้อาศัยความรู้ ประสบการณ์ และ ชื่อของ Kaplan & Norton ในการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวกับ XPP รวมทั้งมีหลักสูตรอบรม ที่ปรึกษา ประเมิน ฯลฯ ออกมามากมาย

นอกจากนี้ สิ่งที่พบอีกประการของ BSC ก็คือ ได้มีการนำแนวคิดทางการจัดการใหม่ๆ เข้าไปผสมผสานกับ BSC ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องของ Big Data ทั้งนี้ เนื่องจากใน BSC นั้นจะมี KPI หรือตัวชี้วัดผลการดำเนินงานเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และเมื่อองค์กรเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัดมาได้ในปริมาณหนึ่ง ประกอบการเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่พัฒนามากขึ้น องค์กรก็สามารถนำข้อมูลต่างๆ ที่เก็บได้มาวิเคราะห์ พยากรณ์ รวมทั้งหา Insight ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับองค์กรต่อไป

อีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจที่พัฒนาต่อมาจาก BSC ก็คือ เรื่องของStrategy Report หรือรายงานข้อมูลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ ที่เป็นรายงานที่แสดงสถานะถึงการดำเนินงานตามกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งรายงานตัวนี้จะไม่ใช่แค่รายงานคะแนนตัวชี้วัดเฉยๆ แต่เป็นรายงานที่แสดงถึงสถานะทางกลยุทธ์ขององค์กร และไม่ได้เน้นในส่วนของข้อมูลทางการเงินและบัญชี เหมือนรายงานทางการเงินและบัญชีทั่วๆ ไป

ก็ถือว่า BSC มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปพอสมควร จากการเป็นเพียงการกำหนดวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดในสี่มุมมองเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับการที่เจ้าของแนวคิดเครื่องมือทางการจัดการไม่ยอมให้แนวคิดของตัวเองตกหรือล้าสมัยไป