อะไรคือแผน ‘Quick Wins’ ของ ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่?

อะไรคือแผน ‘Quick Wins’ ของ ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่?

คงเป็นความบังเอิญมากกว่า ที่การประกาศคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ตรงกับวันมีระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์

 และวันแรกที่รัฐมนตรีใหม่เข้าทำงานเมื่อวันจันทร์ก็เกิดเหตุการณ์ “จันทร์ทมิฬ” เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงกันระนาว

เป็นเรื่องราวที่รัฐมนตรีชุดใหม่ต้องตั้งรับทั้ง ๆ ที่ไม่อยู่ใน“วาระ”ของการทำงาน

แต่ที่ไม่บังเอิญคือแผนงาน เร่งรัดและ เร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะต้องนำเสนอ เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างฉับพลัน ทางด้านการฟื้นความมั่นใจและการเข้าถึง ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเป็นประเด็นอยู่

ผมเห็นสภาปฏิรูปมีวาระ “ข้อเสนอการปฏิรูปเร็ว” ที่ทำได้ทันทีเพราะเป็นปัญหาที่ต้องลงมือปฏิบัติเลย ไม่อาจจะรอให้มีการนำเสนอเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านขั้นตอนอีกหลายชั้น

ครม. ชุดนี้ก็ควรจะมี “แผนปฏิบัติการเร่งรัด” กับ “วาระปานกลาง” เพื่อให้เห็นผลงานกันก่อนการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ถ้าเป็นนักการเมือง เขาเรียกว่า “quick win” ถ้าเป็นภาษาอาเซียนเขาใช้ “early harvest” ซึ่งหมายถึงการทำให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือ stakeholders เห็นผลของนโยบายหลักๆ สักเรื่องสองเรื่องที่เกิดผลทางปฏิบัติ เพื่อเป็นการตอกย้ำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เห็นว่านโยบายที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรูหรือมีแต่วาทกรรมเท่านั้น

ยิ่งบ้านเมืองกำลังเจอกับปัญหาสารพัดทั้งที่ค้างคามาจากอดีต ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายนอก และที่เกิดจากความขัดข้องในการบริหารของรัฐบาลเอง หรือระบบข้าราชการที่ยัง “เกียร์ว่าง” อยู่บางส่วน ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะต้องทำให้เห็นว่า “รับลูกแล้ววิ่งต่อสู่เป้าหมายที่เห็นข้างหน้าเลย”

รัฐมนตรีหลายท่านยอมรับว่าไม่มีเวลาสำหรับ “น้ำผึ้งพระจันทร์” และทุกอย่างจะต้องเร่งเดินเครื่องโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปากท้องประชาชน เศรษฐกิจรากหญ้า อำนาจซื้อที่หดหาย ความมั่นใจของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

คนส่วนใหญ่ให้เวลาคณะรัฐมนตรีใหม่ไม่เกิน 1 เดือนในการประกาศแผนงาน “quick win” และภายใน 3 เดือนจะต้องเห็น ผลเป็นรูปธรรม ในบางเรื่องที่ทุกคนรอคอยให้เกิดขึ้น

เช่นการช่วยเหลือคนจน ความคึกคักในการใช้จ่าย การผลักดันงบประมาณใหญ่ ๆ ให้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและการจัดการกับคดีร้ายแรงที่คั่งค้าง

เอกชนต้องการเห็นรัฐบาลเดินหน้า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม โปร่งใส และไร้คอร์รัปชัน

ประชาชนต้องการเห็นรัฐบาลใช้โอกาสที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ประกาศพร้อมจะช่วยประเทศไทย ฟื้นจากความเสียหายอันเกิดจากเหตุวินาศกรรม ที่สี่แยกราชประสงค์ด้วยการเปิดการรณรงค์หรือ campaign ใหญ่ที่จะชักชวนให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเที่ยวและลงทุนในประเทศไทย

เหมือนที่บางประเทศเคยประกาศหลังจากประสบเหตุร้ายว่า “We are back in business” เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่าคนไทยไม่ท้อถอย ไม่หวาดหวั่นและกำลังลุกขึ้นมาสร้างชาติสร้างประเทศกันอีกครั้งหนึ่ง เพียงขอให้มิตรประเทศทั้งหลายได้ช่วยส่งข่าวต่อ ๆ กันไปว่าประเทศไทยอ้าแขนต้อนรับท่านมาเที่ยวและเยี่ยมเยียนเพื่อแสดงถึงความเป็น “มิตรในยามยาก” ดั่งที่หลายประเทศเคยแสดงให้เราได้เห็นมาก่อนหน้านี้

“แผนปฏิบัติการเร่งด่วน” ของ ครม. ชุดใหม่จะต้องส่งคณะ “ทูตพิเศษ” ที่มีประสบการณ์ในเวทีนานาชาติไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น อินเดียและพร้อมที่จะ “เดินสาย” ไปอธิบายถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ แต่มีความน่าเชื่อถือ และมีข้อมูลที่ชัดเจนและเปิดเผย

ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ไม่ใช่ให้ โลกล้อมไทยแต่ต้องเป็น ไทยตระเวนโลก เพื่อให้เห็นภาพของประเทศไทยในอนาคต ความพยายามของประเทศที่จะปฏิรูปเพื่อนำประเทศไทยสู่ความเป็น “โลกที่หนึ่ง” ในวันข้างหน้า

ยิ่งโลกกำลังป่วนเพราะตลาดหุ้นผันผวน ตลาดเงินแปรปรวน เศรษฐกิจชะลอตัว ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่ ครม. ชุดใหม่ต้องแสดงถึงความคึกคัก ยืดหยุ่น และ“พร้อมลุย”ในทุกสถานการณ์

เพราะหากตั้งรับอย่างเดียวก็มีแต่จะเผชิญกับความถดถอยและพ่ายแพ้