ปีนี้เป้าหมาย 'มีไว้ให้พลาด'

ปีนี้เป้าหมาย 'มีไว้ให้พลาด'

เข้าใกล้เทศกาล “วันแม่แห่งชาติ” 12 ส.ค. นอกจากจะเป็นวันที่ “ลูกๆ” จะแสดงความรักต่อบุพการีผู้ให้กำเนิดแล้ว

ในเชิงการตลาด ช่วงเวลานี้ยังเป็นอีก “โกลเดนท์ พีเรียด” ของการจัดกิจกรรมทางการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้าในประเทศ ในห้วงที่ “ยอดขาย”ครึ่งปีแรก ของบริษัทห้างร้านต่างๆ ล้วน “พลาดเป้า” 

เรียกว่าปีนี้ “เป้ามีไว้ให้พลาด”

ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าชิ้นเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อย่างสินค้า “อุปโภค-บริโภค” ไปจนถึง สินค้าที่มีมูลค่าสูง ชิ้นใหญ่แต่อาจเข้าข่ายสินค้าเกินจำเป็น อย่าง รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ประกอบการต่างออกมาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าวิกฤติ

แม้ว่าบ้านเมืองจะสงบ กำลังซื้อน่าจะกลับมาคึกคัก แต่กาลกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้บริโภคยังคงเก็บกอดเงินไว้ในกระเป๋า 

จากความไม่มั่นใจ ปนไม่เชื่อมั่น ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในภายภาคหน้า  

ถามว่า ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจจะผงกหัวหรือไม่ บรรดาผู้ประกอบการ ต่างคะแนเหมือนนัดกันมาว่า...ยังไม่เห็นปัจจัยบวก ที่จะทำให้กำลังซื้อฟื้นตัว 

แล้วผู้ประกอบการรายไหนกัน ? คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

หวยมาออกที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในแง่ปริมาณ ที่คิดเป็นเกือบ 90% ของจำนวนผู้ประกอบการทั่วประเทศ 

แย่ตรงที่พวกเขา มากแต่ปริมาณ แต่หากเทียบเรื่อง กำลังเงิน นับว่ายัง “ห่างชั้น” จากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ กุมธุรกิจ ของประเทศไว้เพียงไม่กี่ราย แต่ยอดขายปีหนึ่งๆเป็นแสนล้าน

ประเมินจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ซึ่ง “สถาบันการเงิน” บางแห่ง ออกมายอมรับว่า มีความกังวลต่อสถานะหนี้ของเอสเอ็มอีมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด และเอสเอ็มอีในภาคการเกษตร พ่วงไปการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่

กลายเป็นการ ติดล็อก ทางธุรกิจ กำลังซื้อหด  ไม่มีเงินชำระหนี้ ในมุมหนึ่งเอสเอ็มอีเหล่านี้ ยังเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น

ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ยังระบุถึงข้อมูลที่น่าวิตกว่า ยอดขายภาพรวมของเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าเอสเอ็มอีแบงก์ลดลงต่อเนื่อง 

โดยไตรมาสแรก ยอดขายลดลง 30% 

ไตรมาสสอง ยอดขายลดลงถึง 35% 

ขณะที่ไตรมาสสาม ยอดขายลดลงมากถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นี่คือวังวนของปัญหา ที่ยากจะแก้ไข หากภาครัฐให้เร่งบูธกำลังการซื้อ ด้วยการ “เพิ่มดีมานด์” ให้เกิดขึ้น ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ เช่น การเร่งเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นแผนในกระดาษ ที่ยังไม่เคาะประมูล 

ขณะที่ภาคเอกชน ก็เร่งหาทาง สร้างดีมานด์ใหม่ เช่น การโยนหินถามทางกับภาครัฐ โดยเฉพาะ “ค่ายรถยนต์” ที่ยอดขายในประเทศทรุดหนัก จนต้องปรับเป้าหมายการขายในประเทศปีนี้ลง “1 แสนคัน” โดยขอให้รัฐ ไฟเขียวให้เปลี่ยนมือการถือครองรถยนต์ ตามโครงการรถยนต์คันแรก จากก 5 ปี เหลือ 3 ปี เพื่อทำให้เกิดดีมานด์ใหม่ ในตลาดรถยนต์ 

รวมถึงการเสนอให้สามารถนำรถยนต์อีโคคาร์  มาทำรถแท็กซี่  เพื่อระบายสต็อกในอนาคต จากโครงการอีโคคาร์ 2 เฟส หากออกสู่ตลาดครบตามเงื่อนไข หมายความว่าจะมีรถยนต์ใหม่ เข้าสู่ตลาดมากถึง 9 แสนคัน 

นี่คือ ภาวะดิ้นรน ของภาคเอกชนที่มองเห็น แม้ว่าอาจมองด้วยสายตาไม่มิตรนัก ว่า “ได้คืบจะเอาศอก” 

แต่นี่คือปรากฎการณ์ พลาดเป้าที่พวกเขาต้อง เอาตัวรอด