เศรษฐกิจเกี่ยวข้องอะไรกับรัฐธรรมนูญ

เศรษฐกิจเกี่ยวข้องอะไรกับรัฐธรรมนูญ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันเช่นเคยทุกวันพุธที่สามของเดือน

ช่วงนี้ประเด็นร้อนที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมหนีไม่พ้นเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่เพิ่งจัดทำเสร็จโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ร่างนี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญยาวเกินไปบ้าง ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ไม่น่าจะดีบ้างเพราะจะทำให้การเมืองอ่อนแอ บางคนไม่อยากให้กลุ่มการเมืองสามารถลงเลือกตั้งได้ บางคนไม่ชอบที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้นายกฯไม่ต้องมาจาก สส. บางคนเสนอให้ตัดมาตราที่จะทำให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไม่ได้ทิ้ง บางฝ่ายอยากให้ สว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่อีกฝ่ายบอกต้องมีจากการสรรหาด้วย ฯลฯ 

ที่ผมยกตัวอย่างมานั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของความคิดเห็นต่างๆ นานาที่เริ่มทยอยออกมาผ่านสื่อต่างๆ และผมเชื่อว่าคำวิพากษ์วิจารณ์จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ แต่น่าจะยังคงออกมาเรื่อยๆ เพื่อเป็นการสร้างกระแสว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังใช้ไม่ได้ และเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับคณะยกร่างฯ ต้องทำการแก้ไขกันขนานใหญ่ และผมก็เชื่อด้วยว่าท้ายที่สุดหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับจริงคงจะเปลี่ยนไปจากฉบับร่างค่อนข้างมาก เพราะผมเห็นด้วยว่ามีหลายมาตราที่ควรต้องแก้ไข หลายมาตราควรต้องตัดทิ้งเพราะใส่รายละเอียดไว้เยอะเกินไป และมีหลายเรื่องที่ตกหล่นไป ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป

ที่น่าสังเกต คือ คนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่คือนักการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะนักการเมืองคือกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งที่จะทำให้การได้เสียงข้างมากในสภาทำได้ยากขึ้น และมีการเพิ่มกลไกตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่เข้มข้นกว่าเดิมมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อมีกติกาใหม่ๆ เกิดขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนอีกกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นค่อนข้างมาก คือคนจากหน่วยงานของรัฐที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากรัฐธรรมนูญนี้ เช่น หน่วยงานที่จะมีอำนาจหน้าที่ลดลง หน่วยงานที่จะถูกยุบทิ้งหรือควบรวม เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกที่คนกลุ่มนี้ต้องออกมาทำหน้าที่ปกป้องหน่วยงานที่ตนเองสังกัดอยู่

แต่ที่น่าแปลกใจคือแทบจะไม่มีใครออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาสาระด้านเศรษฐกิจเลย ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เราจะได้ยินแต่เสียงวิจารณ์ด้านการเมืองเป็นหลัก ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเมือง แต่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมถึงระบบเศรษฐกิจด้วย เนื้อหาด้านเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญไม่แพ้ด้านการเมืองหรือด้านสังคม เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและอนาคตของเศรษฐกิจของประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ถ้ามีการระบุให้ชัดว่ารัฐบาลต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ก็น่าจะช่วยทำให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ทุกรัฐบาลมักเน้นดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ของตัวเองเป็นหลัก

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีความพิเศษกว่าฉบับอื่นๆ ตรงที่มีภาคที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะ ภาคนี้บังคับให้รัฐบาลต้องทำการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมไปถึงการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจมหภาค และการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจรายสาขา ดังนั้นถ้าเราจัดทำแนวทางการปฏิรูปกันดีๆ ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้จะสามารถช่วยนำพาให้เศรษฐกิจของไทยกลับมามีความเข้มแข็งและเป็นผู้นำของภูมิภาคได้

โดยส่วนตัวผมค่อนข้างพอใจกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ เพราะสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การทำการเมืองให้ใสสะอาดและสมดุล การสร้างสังคมที่เป็นธรรม และการนำชาติกลับสู่สันติสุข แต่มีอีกโจทย์ใหญ่ที่รัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ตอบ คือการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน การทำให้เศรษฐกิจหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว นี่คือข้อเสียหลักของรัฐธรรมนูญนี้ในสายตาผม คือเนื้อหาด้านเศรษฐกิจมีน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะการทำเศรษฐกิจให้เข้มแข็งไม่ได้เป็นหนึ่งในเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเพิ่มเข้าไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทางที่ประเทศจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง ไม่มีทางที่ความเหลื่อมล้ำจะลดลงได้ ถ้าเราไม่มีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและประชาชนมีรายได้ที่ดี

เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัด ผมคงไม่สามารถเขียนในที่นี้ได้ทั้งหมดว่าควรจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาด้านเศรษฐกิจอะไรบ้าง แต่อย่างน้อยผมคิดว่าเราน่าจะระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดไปเลยว่า รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกๆ ด้าน เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมภาคการผลิต การค้า การบริการ ตลาดเงิน ตลาดทุน ให้แข่งขันได้บนเวทีโลก ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ เป็นต้น และควรระบุให้ชัดในภาคปฏิรูปด้วย ว่ารัฐต้องทำอะไรและอย่างไรเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ในส่วนของตลาดทุนที่ผมเกี่ยวข้องโดยตรง เนื้อหาก็มีน้อยมาก ผมขอเสนอให้มีการเพิ่มเติมสองเรื่อง เรื่องแรก รัฐต้องส่งเสริมและดำเนินการให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้ทางการเงินและการลงทุนที่เพียงพอ เหตุผลหลักเพราะคนไทยมีความรู้ทางการเงินน้อยมากโดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจน จึงทำให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย เช่น การใช้จ่ายเกินตัว การถูกหลอกทางการเงิน ฯลฯ และยังเป็นต้นเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และ ความมั่งคั่งกระจุกตัว

เรื่องที่สอง รัฐต้องทำให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในระดับสากล เหตุผลหลักเพราะในปัจจุบัน ตลาดทุนคือแหล่งระดมทุนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก เราจึงต้องมีการกำหนดแนวทางการปฏิรูปตลาดทุนที่ชัดเจนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง ความโปร่งใส และประสิทธิภาพ และเพื่อช่วยทำให้ภาคธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่ถูกและมีคุณภาพ
ผมหวังว่าจะได้เห็นเนื้อหาด้านเศรษฐกิจที่มากขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับจริง   พบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดี