ปฏิรูปพลังงานไทย...ระวังจะเป็นสังคมนิยมโดยไม่รู้ตัว

ปฏิรูปพลังงานไทย...ระวังจะเป็นสังคมนิยมโดยไม่รู้ตัว

เมื่อเห็นข่าวว่าเวเนซุเอลา ประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก ทำการนำเข้าน้ำมันเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี

เมื่อต้นปีนี้ มันก็ทำให้ผมนึกถึงคำล้อเลียนเก่าแก่ที่ว่า “ถ้าให้ Marxist จัดการทะเลทรายซาฮาร่า เขาก็คงเริ่มที่จะส่งออกน้ำแข็ง และนำเข้าทราย”


เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่เคยร่ำรวยที่สุดในอเมริกาใต้ เคยเป็นที่อิจฉาของประเทศอื่นๆ มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดมหึมา และน้ำมันได้กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดในโลกมาได้ร่วม 50 ปีแล้ว ปัจจุบันเวเนซุเอลามีปริมาณน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วมากถึง 298,350 ล้านบาร์เรล มากถึงหนึ่งในสี่ของที่มีอยู่ทั้งโลก (1.2 ล้านล้านบาร์เรล) มากกว่าอันดับสองซาอุดีอาระเบียที่มีน้ำมันสำรอง 268,000 ล้านบาร์เรล แต่พอในด้านการผลิตแล้ว เวเนฯผลิตน้ำมันได้แค่วันละประมาณ 2.2 ล้านบาร์เรล อยู่ในอันดับ 11 ของโลก ขณะที่ซาอุฯผลิตได้เกือบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันสลับเป็นอันดับหนึ่งกับรัสเซีย


ทำไม...ประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันที่สุดในโลกสองประเทศเวเนซุเอลากับซาอุดีอาระเบียซึ่งมีประชากรประมาณเท่าๆ กัน หลังจากพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานมาร่วมร้อยปีจึงมีผลความก้าวหน้าแตกต่างกันมากถึงเพียงนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้นที่ก้าวหน้า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ก็แตกต่างกันมากทีเดียวผมขอนำประสบการณ์สองประเทศนี้มาเปรียบเทียบให้ฟังนะครับ....


ขอเริ่มด้วยซาอุดีอาระเบียก่อนนะครับ.... ตอนที่รวมประเทศได้ในปี 1932 นั้น ซาอุฯได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แต่ก็เหมือนพระเจ้าประทานพร หลังจากนั้นไม่นานได้มีการค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ ซึ่งก็ได้ให้สัมปทานกับบริษัทตะวันตกเป็นผู้ลงทุนขุดหาและพัฒนาการผลิต บริษัทน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก (ประมาณว่ามีมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์) ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% คือ Saudi Aramco นั้น ก็ถูกจัดตั้งขึ้นโดยเอกชนต่างประเทศ โดยตั้งขึ้นประมาณ 1940 โดยใช้ชื่อว่า Arabian American Oil Company (ARAMCO) ถือหุ้นโดย Standard Oil of California, EXXON, Mobil และ Texaco โดยรัฐบาลเพิ่งจะมาเจรจาขอซื้อหุ้นครั้งแรก 25%ในปี 1973 ช่วง World Oil Crises และซื้อหุ้นทั้งหมดในปี 1980 (เจรจาขอซื้อในราคาเป็นธรรมนะครับ ไม่ได้ไปยึดคืนแบบหน้าด้านๆ แต่อย่างใด)


ตลอดเวลาที่พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน ซาอุฯใช้นโยบายเปิดรับทั้งเงินลงทุน ทั้งเทคโนโลยีการขุดเจาะ การผลิตจากต่างประเทศตลอดมา ทำให้มีการพัฒนาทุกด้านได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ในบางครั้งอาจมีนโยบายขู่เรื่อง Nationalizeบ้างเป็นบางคราว (เช่นเมื่อปี 1950 เพื่อขอขึ้นค่าภาคหลวงเป็น 50%) แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เอารัดเอาเปรียบเอกชนต่างชาติจนเกินไป ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับทุนได้ดีตามควร


ผลของการพัฒนาตามนโยบายนี้ ทำให้ซาอุฯสามารถใช้ทรัพยากรที่พระเจ้าให้มาได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน จากวันละ 1.2 ล้านบาร์เรลในปี 1960 เป็น 10 ล้านในปี 1980 แล้วคงปริมาณมาทุกวันนี้ ...ซาอุฯสามารถพลิกฟื้นจากประเทศแสนยากจน มี per capita GDP แค่ไม่ถึง 100 ดอลลาร์ ในปี 1960 มาเป็น 19,326 ดอลลาร์ ในปี 2010 เป็นประเทศมั่งคั่งได้สำเร็จ เศรษฐกิจด้านอื่นๆ ก็ก้าวหน้าตาม ประชาชนมีความสงบสุขดี


ลองหันมาดูประสบการณ์ของ เวเนซุเอลาบ้าง....เวเนฯนั้นค้นพบและพัฒนาแหล่งน้ำมันอย่างจริงจังตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยอนุญาตให้บริษัทน้ำมันสหรัฐฯเข้าไปสำรวจขุดเจาะดำเนินการผลิตเป็นส่วนใหญ่ นำโดย Standard Oil of New Jersey (EXXON ในปัจจุบัน) การผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านบาร์เรล/วันในปี 1950 เป็น 3.7 ล้านตั้งแต่ปี 1970 (ปีนั้นซาอุฯผลิตได้ 3.0 ล้าน) ...ซึ่งนั่นก็ทำให้เวเนฯเป็นประเทศร่ำรวยตั้งแต่ปี 1960 (per capita GDP 1,138ดอลลาร์) เป็นหนึ่งใน18 ประเทศในโลกที่มี per cap GDP เกิน 1,000 ดอลลาร์ (ไทยมี 101 ดอลลาร์, สิงคโปร์แค่ 400 ดอลลาร์ในปีนั้น) ...แต่พอหลังOil Crises เวเนฯก็เกิดฮึกเหิม เริ่มรายการ“ยึดคืนพลังงาน” โดยในปี 1976 ประธานาธิบดี Carlos Andres Perez ก็ออกกฎหมายยึดกิจการพลังงานทุกแห่งเป็นของรัฐ พร้อมทั้งจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ Petróleos de Venezuela, S.A. (PDVSA) ขึ้นมาดำเนินกิจการเป็น Monopoly


แล้วการก็เป็นไปตามทฤษฎีที่ว่า ให้รัฐทำย่อม “ห่วยและหาย” ..ผลผลิตที่เคยได้ตอนบริษัทอเมริกันทำหดหายไปเรื่อยๆ จากเคย Peak ที่ 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผลผลิตภายใต้การดำเนินการของ PDVSA ก็ตกต่ำ ลดลงเรื่อยๆ จนกลับไปเหลือเพียง 1.6 ล้าน ในปี 1985 แถมต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเพียงแค่ 29% พุ่งขึ้นเป็น 64% ทำให้รัฐได้แค่ 36% น้อยกว่าระบบสัมปทานไทยเยอะ (ไม่รู้ว่าทำไมกลุ่มทวงคืนหลายท่านถึงได้เชิดชูระบบเวเนซุเอลานัก)


พอ Hugo Chavez ขึ้นครองอำนาจในช่วง 1999-2013 เวเนฯก็กลายเป็นระบบสังคมนิยมเต็มรูปแบบมากขึ้น Chavez ยึดกิจการอื่นๆ เป็นของรัฐจนทุนต่างประเทศหดหาย ทุนในประเทศหนีออก อุตสาหกรรมแทบทุกด้านพังทลาย เศรษฐกิจชะงักงัน บางปีก็หดตัวรุนแรง per capita GDP มีอัตราเติบโตไม่แน่นอน ถึงแม้ปัจจุบันจะยังอยู่ที่ 13,200 ดอลลาร์ยังนับเป็นประเทศมั่งคั่ง แต่ก็ถือว่าย่ำเท้าอยู่กับที่หลายสิบปี (ปีที่แล้วหดตัว 3%) ...เงินเฟ้อยิ่งน่าทึ่งมาก 35 ปีที่ผ่านมา มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 31% ต่อปี โดยมีแค่ 2 ปีเท่านั้นที่ไม่ถึง 10% เป็นตัวเลขตัวเดียว สองปีหลังนี่ก็เฟ้อประมาณ 60% ต่อปี มีน้ำมันอย่างเดียวที่ราคาถูก (รัฐอุดหนุนสุดเหวี่ยง) นอกนั้นแพงและหายากหมดทุกอย่าง มีข่าวว่าต้องใช้ธนบัตรแทนกระดาษชำระเพราะหาซื้อไม่ได้


อุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนฯก็ชะงักงัน ถึงจะมีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก แต่ก็ผลิตออกมาได้น้อย แค่วันละ 2.2 ล้านบาร์เรล จนต้องนำเข้าน้ำมันบางชนิด ...ที่ผลิตน้อยนั้น ไม่ได้ต้องการ “เก็บไว้ให้ลูกหลาน” หรอกนะครับ แต่เป็นเพราะไม่มีการลงทุน ไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยี เลยเอาออกมาใช้ไม่ได้ มีสำรองไว้ 370 ปี (ที่ใครๆ ก็รู้ว่าเวลานั้นคงไม่มีการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแล้ว) ขนาดซาอุฯมีสำรอง 75 ปี รัฐมนตรีน้ำมันเขายังบ่นอุบ กลัวจะเหลือทิ้งมากไป “ยุคหินไม่ได้จบเพราะหินหมด ยุคน้ำมันก็เช่นกัน” ท่านชีคว่าไว้อย่างนั้น


ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นเรื่องของสองประเทศมหาอำนาจน้ำมันโลก ...ประเทศหนึ่งใช้พรที่พระเจ้าประทานมาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำพาความเจริญมั่งคั่งมาพัฒนาประเทศ ...อีกประเทศใช้อย่างสะเปะสะปะ หลงอุดมการณ์รักชาติ คลั่งชาติ กีดกันโลกาภิวัตน์ หลงใหลสังคมนิยมมาร์กซิสต์ ย่ำเท้าอยู่กับที่


เหลียวกลับมามองดูประเทศไทยบ้าง....เราเป็นดินแดนที่ไม่ได้พรยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในเรื่องแหล่งพลังงาน ถึงจะมีแหล่งพลังงานอยู่บ้าง แต่ก็เพียงแค่ช่วยลดภาระการต้องนำเข้าไปได้ไม่ถึงครึ่ง แถมลักษณะทางธรณีวิทยาของเราก็ยังขุดยากเจาะยากเสียอีก ที่พัฒนามาได้ถึงขั้นนี้ ต้องนับว่าเป็นเพราะนโยบายที่เปิดกว้าง ยอมให้มีการแข่งขันจากต่างชาติตามสมควร ถึงเขาจะได้กำไรไปจากการเสี่ยงมาลงทุน รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาให้ เราก็ได้ส่วนแบ่งไม่น้อย ...พลังงานไม่เคยขาดแคลน ราคาไม่สูงเกิน (พูดตรงนี้มักโดนโห่ ...ขอยืนยันจากการที่เราเป็นประเทศใช้พลังงานฟุ่มเฟือยเกือบที่สุดในโลก ถ้าแพงจะต้องประหยัดกว่านี้แน่)


ช่วงปฏิรูปนี้ ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าเราจะเลือกไปทางใด ...จะเป็น Market Friendly เหมือนเดิม คือใช้กลไก ใช้ทรัพยากร ใช้เทคโนโลยีของตลาด มาช่วยเสริม ช่วยพัฒนา เก็บทรัพยากรรัฐไว้ทำแต่สิ่งจำเป็น


หรือจะพยายามเลียนแบบท่าน Chavez แห่งเวเนซุเอลาคิดว่าทุนนั้นย่อมสกปรก ต่างชาติยิ่งแย่ใหญ่ ต้องใช้หลักชาตินิยม หลักสังคมนิยม ตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาใหม่ พยายามยึดทุกอย่างมาทำเอง เข้าควบคุมกำหนดราคาไปเสียให้หมด แล้วหวังว่า ไอ้รัฐวิสาหกิจที่ตั้งใหม่นี้ จะโคตรเก่ง โคตรดี ไม่เหมือนไอ้ 56 แห่งที่มีอยู่เดิม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โปร่งใสไม่มีโกงกิน นักการเมืองไม่ก้าวก่าย (ก็ท่านบอกให้เลือกแต่ “คนดี” พวกทวงคืนมาบริหารนี่ครับ)


ดูเผินๆ ข้อเสนอปฏิรูปแบบนี้ดูเหมือนดี แต่ถ้าพิจารณาให้ดีก็จะเห็นเลยว่า มันคือแนวทาง ชาตินิยม สังคมนิยม ตามอย่างเวเนซุเอลาเปี๊ยบเลย ...ฟังแล้วมันวังเวงนะครับ เพราะดันมีคนหลงตาม งมงายเชื่อไม่น้อยเลยทีเดียว


ขอปิดท้ายด้วยคำคมของท่าน Sir Winston Churchill นะครับ ท่านเคยว่าไว้ว่า


“ใครที่ไม่เคยเป็นซ้ายก่อนอายุ 30 เป็นพวกที่ “ไม่มีหัวใจ” แต่ใครที่ยังเป็นซ้ายหลังอายุ 30 ก็ต้องเป็นพวก "ไร้สมอง"”


ขอให้โชคดีนะครับ ....พลังงานไทย