แผนสำรอง (Plan-B) ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก(6)

แผนสำรอง (Plan-B) ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก(6)

ในปัจจุบันมีความกังวลในประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้แล้วจากการดำเนินการที่ผ่านมาและที่ตั้งเป้าจะลดในอนาคตนั้น

ไม่เพียงพอที่จะช่วยจำกัดให้อุณหภูมิโลกเพิ่มไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ (อุณหภูมินี้ ว่ากันว่าเป็นจุดวิกฤติ ถ้าโลกร้อนเกินจุดวิกฤตินี้ก็ยากที่จะเยียวยาให้กลับเป็นดังเดิมได้ หรือที่เรียกกันว่า Tipping point) จึงมีการเสนอแนวคิดที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุผลในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน


ประมาณกันว่า ถ้าจะจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิตามที่ว่านี้ ตั้งแต่ปีนี้ (2015) เป็นต้นไป โลกมีโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียงประมาณ 1200 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่ในปีที่แล้วปีเดียวการปล่อยจากการใช้พลังงานฟอสซิลและอุตสาหกรรมซีเมนต์รวมกันประมาณ 37 พันล้านตัน นั่นหมายความว่าเราสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับนี้ได้อีกประมาณ 30 ปี เท่านั้น ดังนั้นเราจะต้องดำเนินการลด หยุด หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินโควตา อย่างเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องมีหวังในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ได้ในระดับที่เชื่อกันว่า ปลอดภัยต่อมนุษยชาติ


แนวคิด “การปล่อยคาร์บอนที่เป็นลบ” หรือ Negative emission (NE) กำลังถูกมองว่าเป็นแนวทางที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ปัญหานี้ ความหมายของ NE ต่างจากการลดก๊าซเรือนกระจกทั่วๆ ไปที่เราคุ้นเคย คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วไป เป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ แต่ NE เป็นการสกัดหรือดึงเอาก๊าซเรือนกระจกออกจากบรรยากาศ แล้วเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย คือไม่ให้ถูกปล่อยออกไปได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในระดับโลกการที่จะรักษาอุณหภูมิให้อยู่ภายใต้ 2 องศาเซลเซียส นั้น นอกจากจะลดการปล่อย หยุดการปล่อยให้เหลือศูนย์แล้ว ยังต้องทำให้ปริมาณการปล่อยทั้งโลกรวมสุทธิเป็นลบ (คือการปล่อยเข้าสู่บรรยากาศต้องน้อยกว่าปริมาณที่ถูกดึงออกจากบรรยากาศ) และถ้าจะให้ทันการณ์ (2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษที่ 21) NE ควรเกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 2070 เป็นอย่างช้า


ในบทความที่ผ่านๆ มานั้น ผมได้พูดถึงการดำเนินการ เพื่อไม่ให้ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่บรรยากาศด้วยวิธีการหรือเทคโนโลยีต่างๆ มาแล้ว และได้เคยบอกไว้ว่า มนุษย์เรายังไม่มีทางที่จะสกัดเอาก๊าซเรือนกระจกออกมาจากบรรยากาศได้เลย อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำ NE ได้โดยทางอ้อม คือ อาศัยผู้ที่มีความสามารถในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากอากาศได้ (คือ พืชนั่นเอง) แล้วใช้เทคโนโลยีที่มนุษย์พอจะทำได้ เก็บคาร์บอนเหล่านั้นไว้ในที่ปลอดภัย ไม่ให้ถูกปล่อยกลับออกไปอีก ตัวอย่างที่ผมได้พูดถึงไปแล้ว ในบทความครั้งที่แล้วคือ การใช้ถ่านชีวะ (Biochar)


จากภาพประกอบ แสดงให้เห็นว่า การที่โลกเราจะรักษาระดับการเพิ่มของอุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสนั้น การดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิด Negative emission มีความจำเป็น


แนวทางหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่ง NE นั้นคือ การผลิตพลังงานจากชีวมวลควบคู่กับการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน (sustainable Bio-Energy with Carbon Capture and Storage; BECCS) ในบทความที่ผ่านมา ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ CCS (Carbon capture and storage) แต่เป้าหมายของเทคโนโลยีCCS นั้น เป็นการลดการปล่อยจากแหล่งปล่อยที่ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลัก ตามแนวทางของ NE นี้ การผลิตพลังงานจากชีวมวลเพื่อลดการปล่อยอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องใช้ CCS ตามไปเก็บไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอีกด้วย ซึ่งจะเห็นว่า การผลิตพลังงานจากชีวมวลเดิมที ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบเป็นศูนย์อยู่แล้ว (เพราะถือว่าคาร์บอนที่ปล่อยออกจากชีวมวล เป็นคาร์บอนที่ชีวมวลดูดมาจากบรรยากาศ การปล่อยจึงเป็นการหมุนเวียนคาร์บอนจำนวนเท่าเดิมกลับออกไป ไม่ได้เป็นการปล่อยเพิ่มหรือที่เราเรียกว่าเป็น Zero emission หรือ Carbon neutral นั่นเอง) แต่เท่านั้นยังไม่พอ เรายังต้องใช้ CCS มาร่วมด้วยถึงจะทำให้ได้ NE ตามมาแนวทางอื่นๆ ที่ทำได้ เช่น การปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่ามาก่อน (Afforestation) การสกัดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศโดยตรงโดยเทคโนโลยีอนาคต และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินอย่างถาวร (เช่น ถ่านชีวะ) เป็นต้น


นับจากนี้ไป ด้วยกระแส NE ที่มาแรง และการดำเนินการเพื่อผลักดันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามแนวคิด NE ผนวกกับการที่ IPCC-AR5 ก็ได้พูดถึงประเด็นเหล่านี้ไว้อย่างกว้างขวาง บทบาทของ BECCS การแก้ปัญหาโลกร้อนคงมีความสำคัญมากขึ้น มีความเป็นไปได้สูงมากว่า BECCS จะมีผลกระทบต่อนวัตกรรมของเทคโนโลยีและการวิจัยพลังงาน ในอนาคตอันใกล้นี้