การบริหารจัดการ ต่อต้านการติดสินบน

การบริหารจัดการ ต่อต้านการติดสินบน

ประเด็นร้อนของหลายประเทศทั่วโลก มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาการ "คอรัปชั่น" ซึ่งสาเหตุหลัก มักจะเริ่มมาจาก "การติดสินบน" เสมอ

การติดสินบนเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกิดการคอรัปชั่น เพราะเป็นการเสนอ การให้ หรือการสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ทั้งในรูปแบบของเงิน หรือสิ่งตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคล หรือองค์กรธุรกิจทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อแลกเปลี่ยนหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ

นอกจากนี้ ในระบบเศรษฐกิจระดับชาติ การจ่ายเงินติดสินบน เป็นปัญหาที่ลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งผลกระทบคือสร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมให้แก่สังคม เป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ และทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร และเป็นปัญหาความเป็นธรรมในธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศอีกด้วย

มูลเหตุเหล่านี้เป็นที่มาของการที่ประทศพัฒนาแล้ว ต่างหันมาให้ความสนใจกับการบริหารจัดการการต่อต้านการติดสินบน โดยมีแนวคิดที่จะจัดทำเป็นมาตรฐานระบบบริหารจัดการ เรียกว่า ISO 37001 Anti-bribery management systems

เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ดีและเป็นระบบในการต่อต้านคอรัปชั่นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคเอกชนหรือองค์กรภาคประชาสังคม

ซึ่งขณะนี้มาตรฐานนี้ อยู่ในระหว่างการจัดทำเป็นฉบับร่าง โดยนำมาตรฐานของประเทศอังกฤษ BS 10500:2011 Specification for an anti-bribery management system (ABMS) มาใช้เป็นแนวทาง

สาระสำคัญของมาตรฐานฉบับนี้ มีโครงสร้างสอดคล้องกับมาตรฐานระบบการบริหารงานคุณภาพ ISO 9001  มาตรฐานระบบการบริหารการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 หรือมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี

ข้อกำหนดหลักของ มาตรฐานประเทศอังกฤษ BS 10500 กำหนดให้องค์กรที่ต้องการบริหารจัดการการติดสินบน จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

1.กำหนดนโนบายต่อต้านการติดสินบน

นโยบายนี้ควรจะใช้ภาษาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อประโยชน์ในการสื่อความและความเข้าใจร่วมกันของบุคคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร นโยบายต่อต้านการติดสินบน ควรระบุถึงการห้ามการติดสินบน และการเฝ้าระวัง ตรวจจับ และวิธีการจัดการกับการติดสินบนที่เกิดขึ้น โดย

จัดให้มีระบบการจัดการการติดสินบนขึ้นในองค์กร

ระบบการจัดการการติดสินบน หรือ ABMS (Anti-bribery management system) ระบบ ABMS ของแต่ละองค์กร ควรมีความเหมาะสมกับลักษณะการดำเนินกิจกรรมขององค์กรนั้นๆ และควรสอดคล้องกับธรรมชาติและระดับของความเสี่ยงที่จะเกิดการติดสินบนขึ้นในองค์กร

2. ฝ่ายบริหาร ต้อง จัดการเผยแพร่และสื่อความ ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึง นโยบายและระบบ AMBS ขององค์กร และ แสดงให้เห็นว่าคณะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินการ ตามนโยบายและระบบการจัดการดังกล่าว

3.จัดให้มีการให้ความรู้ อบรม และให้คำแนะนำ เกี่ยวกับนโยบายและระบบ ABMS ขององค์กรให้ผู้เกี่ยวข้องภายในองค์กร ให้ทราบถึงความเสี่ยงและผลกระทบต่อองค์กร รวมถึงการปฏิบัติตนในกรณีต่างๆ เกี่ยวกับการติดสินบน เช่น การรายงานสิ่งผิดปกติ การเฝ้าระวัง และวิธีการหลีกเลี่ยง เป็นต้น

4. ระบุ ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ต่อการดำเนินการตาม ABMS ในระดับการทำงานประจำวันต่อวัน การแต่งตั้ง ผู้จัดการกำกับดูแลการต่อต้านการติดสินบนในระดังองค์กร อย่างเป็นกิจลักษณะ โดยคัดเลือกมาจากผู้บริหารในระดับที่มีความเหมาะสมกับการดำเนินกิจกรรมขององค์กร

5.จัดให้มีทรัพยากรที่เพียงพอ ในการปฏิบัติตาม ANMS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6.จัดให้มีการประเมินความเสี่ยง ต่อการเกิดการติดสินบน อย่างเป็นระบบ เช่น มีการกำหนดวิธีการประเมิน และความถี่ของการประเมิน ที่ชัดเจน

7.จัดให้มีการวิเคราะห์และสอบทาน (Due diligence) ระบบ ABMS ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือ เมื่อผลการประเมินความเสี่ยงส่อว่าจะเกิดโอกาสในการติดสินบนขึ้นในองค์กร

8.ดำเนินการตามเงื่อนไขหรือระบบการต่อต้านการติดสินบนที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรกำกับดูแลหรือสมาคมธุรกิจต่างๆ 

โดยที่เงื่อนไขเหล่านั้นเหมาะสมกับ ประเภท ขนาด และกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงการ

ขยายขอบเขตของ ABMS ขององค์กร ไปยังองค์กรผู้มีส่วนได้เสียอื่น ให้เริ่มปฏิบัติหรือดำเนินการตามแนงปฏิบัติขององค์กรที่ได้กำหนดไว้

9.การคัดเลือกหรือจัดจ้างพนักงานในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการติดสินบน 

โดยองค์กรจะต้องมีวิธีการคัดเลือก การกำหนดผลตอบแทน การให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการควบคุมการติดสินบน การจัดให้มีการลงนามรับทราบความรับผิดชอบงาน เป็นต้น

10.จัดให้มีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ชัดเจน เกี่ยวกับ การให้ของขวัญ ของกำนัล ของตอบแทน ของบริจาค หรือ ผลประโยชน์อื่นๆ

11.จัดให้มีข้อห้าม เกี่ยวกับการใช้จ่ายหรือการรับเงินที่จะทำให้การดำเนินกิจกรรมขององค์กรเป็นไปได้ง่าย หรือ ราบรื่นขึ้น

12.จัดให้มีการมอบหมายอำนาจการตัดสินใจด้านการบริหาร อย่างเป็นกิจลักษณะ เป็นรายลักษณ์อักษร ที่ชัดเจน

13.จัดให้มีข้อความต่อต้านการติดสินบนในแบบฟอร์มข้อตกลงหรือข้อสัญญา ที่ต้องผูกพันองค์กรกับองค์กรคู่สัญญา

14.จัดให้มีระบบควบคุมทางการเงิน ที่รัดกุม ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการติดสินบนขึ้นได้

15.จัดให้มีระบบควบคุมการจัดซื้อจัดจ้าง ที่รัดกุม ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการติดสินบนขึ้นได้

16.จัดให้มีการส่งเสริมและสร้างจิตสำนึก ให้กับบุคลากรขององค์กรในการต่อต้านการติดสินบน เช่น มีช่องทางสำหรับการรายงานเบาะแสโดยรักษาเป็นความลับ การยอมพิจารณากรณีบัตรสนเท่ที่มีนัยสำคัญ การปกป้องผู้แจ้งเบาะแส และการยกย่องชมเชยในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น

17.กำหนดวิธีการสอบสวนและตัดสินที่เป็นธรรม ต่อกรณีการติดสินบนที่เกิดขึ้นในองค์กร

18.การจัดทำระบบ ABMS ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่มีการติดตามประสิทธิภาพ การบันทึกผล และการสะท้อนสถานการณ์ด้านการติดสินบน เพื่อเปิดโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาระบบให้ดีขึ้น

ในอีกไม่นาน หลังจากการประกาศใช้มาตรฐาน ISO 37001 ประเทศไทยเราก็คงจะรับเอามาตรฐานนี้มาประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศ เพื่อแสดงระดับที่เทียบเท่ากับนานาประเทศ

ใครที่สนใจบริหารองค์กรของตนให้โปร่งใส ก็ควรต้องเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติให้ได้ตามข้อกำหนดต่างๆ ของมาตรฐาน ISO 37001 ไว้แต่เนิ่นๆ ก็จะดีไม่น้อย