เพื่อการปฏิรูปมนุษย์และสังคมอย่างลึกซึ้ง

เพื่อการปฏิรูปมนุษย์และสังคมอย่างลึกซึ้ง

หนังสือชื่อข้างต้นนี้ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว (www.saengdao.com) วิเคราะห์ปัญหาสำคัญของมนุษย์

เรื่องวิวัฒนาการ ธรรมชาติ ความก้าวหน้า ปัญหา และทางออกของมนุษย์ โดยใช้องค์ความรู้ล่าสุดจากนักวิชาการสาขาชีววิทยาวิวัฒนาการ จิตวิทยาวิวัฒนาการ ประสาทวิทยา ฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา แนวเรื่องที่สำคัญคือ มนุษย์คืออะไร มาจากไหน จะไปทางไหน มนุษย์เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ส่วนรวม ในเงื่อนไขแบบไหนอย่างไร มนุษย์ก้าวหน้าและสร้างปัญหาอย่างไร มนุษย์จะเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างมากหรือจะสูญพันธุ์/เกือบสูญพันธุ์ เกิดกลียุคครั้งใหญ่กันแน่ และทางออกของมนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร

ประเด็นสำคัญที่นักวิชาการกลุ่มที่สนใจเรื่องนี้เห็นตรงกันคือ การที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์หนึ่ง (Species) ในราว 30 พันล้านชนิด ในโลกอยู่รอดมาได้และวิวัฒนาการได้ก้าวหน้ามากกว่าสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นๆ นั้น เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ร่วมมือกันเก็บของป่าล่าสัตว์ และต่อสู้ภัยต่างๆ โดยคำนึงถึงกลุ่มมากกว่าตัวเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก การรู้จักใช้ชีวิตและทำงานแบบรวมหมู่ทำให้มนุษย์ตัวเล็กๆ ที่มีแค่อาวุธ ทำจากหินและไม้แบบง่ายๆ ปกป้องตัวเองจากสัตว์ใหญ่ที่มีกำลัง มีฟัน เขี้ยวเล็บ ที่มีพลังมากกว่า สามารถได้อยู่รอดและขยายเผ่าพันธุ์ วิวัฒนาการได้ก้าวหน้ากว่าสัตว์อื่นทุกชนิด

ในช่วงเวลาใช้เวลา 5-6 ล้านปี ถึงราว 1 หมื่นปีที่แล้ว มนุษย์ใช้ชีวิตแบบกลุ่มเล็กๆ หรือชนเผ่า เก็บของป่า ล่าสัตว์ ด้วยเครื่องมือง่ายๆ มาโดยตลอด แม้ต่อมาจะรู้จักใช้เทคโนโลยี เช่น ไฟ และอื่นๆ ก็ค่อยเป็นค่อยไป วิถีการผลิตไม่ได้เปลี่ยน การใช้ชีวิตแบบรวมหมู่ ทำให้มนุษย์อยู่รอดดีขึ้น มีอาหารการกินดีขึ้น สมองพัฒนาขึ้น สามารถพัฒนาภาษาระดับสูง วัฒนธรรม ความรู้ เทคโนโลยี ในการดำรงชีวิตและต่อสู้กับภัยต่างๆ แพร่พันธุ์เพิ่มขึ้น

มนุษย์เพิ่งมารู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การตั้งหลักแหล่ง จากหมู่บ้านกลายเป็นเมือง เมื่อราว 5 พันปี ถึง 1 หมื่นปีที่แล้ว การเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ทำให้มนุษย์มีความมั่นคงทางอาหารรอดตายเพิ่มขึ้น ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การรวมกลุ่มใหญ่ การตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนใหญ่ แบ่งงานกันทำ พัฒนาช่างฝีมือ พัฒนาความรู้และเทคโนโลยี จัดตั้งองค์กรแบบสังคมขนาดใหญ่ เกิดชนชั้นผู้ปกครองมีการระดมช่างฝีมือ นักประดิษฐ์ นักวิชาการต่างๆ มาช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วัฒนธรรม อารยธรรม ได้เพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้มีผลเสียหาย เช่น การทำสงคราม การกดขี่ขูดรีดมนุษย์ด้วยกัน การทำลายทรัพยากรสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมากขึ้น อาณาจักรบางแห่งที่เคยรุ่งเรืองต้องล่มสลาย เพราะชนชั้นผู้ปกครองใช้อำนาจพัฒนาอย่างไม่เป็นธรรม ไม่สมดุล ทั้งในเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเรื่องระบบนิเวศ

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยุคที่ 3 คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมราว 250-300 ปีที่แล้ว การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจมาก ทำให้มนุษย์ยิ่งขยายเผ่าพันธุ์ เป็นผู้ปกครองโลก อยู่ในฐานะเหนือกว่า ครอบงำ เอาชนะ ใช้ประโยชน์สัตว์ชนิดพันธุ์อื่นได้เป็นส่วนใหญ่ การพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมสร้างความเจริญทางวัตถุอย่างมาก แต่ก็มาพร้อมกับการทำลายทรัพยากรและสภาพแวดล้อม การกดขี่เอาเปรียบมนุษย์ เอาเปรียบชาติอื่น กลุ่มอื่น การทำสงครามแย่งชิงทรัพยากรและผู้คนที่ใช้เครื่องมือที่รุนแรงได้ยิ่งกว่ายุคก่อนๆ

ปัญหาของมนุษย์ในยุคปัจจุบันคือ แม้มนุษย์จะพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ ฯลฯ ได้สูง และติดต่อเชื่อมโยงกันได้ทั้งโลก แต่ระดับการพัฒนาและระดับศึกษาของมนุษย์กลุ่มต่างๆ ประเทศต่างๆ มีความแตกต่างกันมาก มีทั้งการแข่งขันเอาเปรียบกันมาก มีความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม ความคิด ความรู้ ความเชื่อมาก มีความระแวงเป็นปฏิปักษ์กันมาก แม้ในประเทศเดียวกันประชากรแบ่งเป็นหลายชนชั้น หลายกลุ่ม หลายเมือง หลายชุมชน การร่วมมือช่วยเหลือกันเพื่อประโยชน์ของกลุ่มที่เป็นจุดแข็งของมนุษย์โบราณที่อยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ มีจำกัดลงเหลือเฉพาะในกลุ่มย่อย การพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งขันแบบเพื่อตัวใครตัวมัน ทำให้คนเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้น เห็นแก่ส่วนรวมลดลง ยิ่งระดับเมือง ประเทศ ที่มีคนมาก ห่างเหินกัน คนยิ่งร่วมมือกันได้ยาก แม้แต่ชุมชนเล็กๆ ที่สมัยก่อนร่วมมือกันได้ดี ในสมัยนี้ถูกชนชั้นผู้ร่ำรวย/มีอำนาจกลุ่มน้อยทำให้แตกแยกอ่อนแอ คนต้องขึ้นทุนและอำนาจรัฐส่วนกลางและดิ้นรนทำมาหากินแบบปัจเจกชนตัวใครตัวมันเพิ่มขึ้น

หนังสือเล่มนี้พยายามเสนอทางออก เช่น ควรปฏิรูประบบบริหารเศรษฐกิจการเมือง แบบกระจายอำนาจและทรัพยากรให้คนอยู่ในชุมชนขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่พึ่งตนเองทางเศรษฐกิจสังคมได้เพิ่มขึ้น การฟื้นฟูให้ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชน และจัดระบบบริหารให้ดี ให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืนขึ้น การปฏิรูปทางการศึกษาให้คนฉลาดทางอารมณ์ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เข้าใจปัญหาของมนุษย์ในสังคมโลก และคิดในเชิงร่วมมือช่วยเหลือกันมากขึ้น วิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต การกระจาย การบริโภค ที่ลดการทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แต่แบ่งปันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ให้คนส่วนใหญ่ในโลกอยู่ได้อย่างพอเพียง เน้นความสุขมากกว่าความมั่งคั่ง/การบริโภค

หนังสือเล่มนี้อธิบายความแตกต่างกันระหว่างชายกับหญิงในแง่ชีววิทยา จิตวิทยาวิวัฒนาการไว้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งปัญหาทางจิตวิทยาสังคมของมนุษย์สมัยใหม่ไว้ได้ดีในหลายประเด็น เช่น การที่มนุษย์เชื่อตามกัน ถูกปลุกระดมจูงใจได้ง่าย ปัญหาความแปลกแยกในสังคมเมืองสมัยใหม่ รวมทั้งปัญหาการใช้การสื่อสารทางคอมพิวเตอร์แทนการสื่อสารกันแบบเห็นหน้าเหมือนในยุคก่อน ฯลฯ หนังสือพยายามเสนอประเด็นให้มนุษย์ยุคปัจจุบันเรียนรู้บทเรียนจากอดีต และช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนามนุษย์ในยุคใหม่อย่างมีเหตุผล และมีความเป็นไปได้ นั่นก็คือการเข้าใจปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมและสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกันหาทางออกเพื่อมนุษยชาติโดยส่วนรวม ก่อนที่มนุษย์จะสูญพันธุ์หรือเกือบสูญพันธุ์ไป