อันเนื่องมาจากเรื่องอเมริกาจะเข้าป่าค่อนข้างแน่

อันเนื่องมาจากเรื่องอเมริกาจะเข้าป่าค่อนข้างแน่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มุมมองหนึ่งซึ่งบทความในคอลัมน์นี้เสนอไว้ได้แก่การอ่านว่าอเมริกาจะเดินไปทางไหน

บนฐานของการอ่านประวัติศาสตร์โลกโดยพอล เคนเนดี ในหนังสือชื่อ The Rise and Fall of the Great Powers แก่นของหนังสือคือ มหาอำนาจทางทหารต้องอาศัยพลังทางเศรษฐกิจ เมื่อไรการใช้จ่ายทางกิจการทหารมากเกินพลังทางเศรษฐกิจ เมื่อนั้นมหาอำนาจจะเสื่อม ตอนนี้อเมริกาใช้จ่ายทางการทหารสูงมากเนื่องจากต้องไล่ล่าศัตรูที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลกในภาวะที่เศรษฐกิจง่อนแง่นมานาน ฉะนั้น จึงอาจอ่านได้ว่าอเมริกากำลังเริ่มเสื่อม แต่บทความพูดถึงเฉพาะด้านความเสื่อมของระบอบประชาธิปไตยในมุมมองของชาวอเมริกันเอง มิได้ให้รายละเอียดว่าเศรษฐกิจของอเมริกาง่อนแง่นเพราะอะไร วันนี้จะขยายความ

อันที่จริงคอลัมน์นี้พูดเรื่องเศรษฐกิจของอเมริกามาหลายต่อหลายครั้ง สิ่งที่จะพูดถึงต่อไปนี้จึงมีอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ในบทความเกี่ยวกับการเดินเข้าทางตันของการใช้ระบบตลาดเสรีกระแสหลัก ระบบตลาดเสรีมีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตลอดประวัติศาสตร์เนื่องจากมันสะท้อนสัญชาตญาณเบื้องต้นของคนเราสองด้านด้วยกัน นั่นคือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่เมื่อมีอะไรเหลือกินเหลือใช้ก็มักนำมาแลกเปลี่ยนกันอันเป็นฐานของ “ตลาด” และเราต้องการทำสิ่งนั้นอย่างเสรี ด้วยเหตุนี้ ระบบตลาดเสรีจะมีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ต่อไป

ในประวัติศาสตร์ชาติไทยย้อนไปราว 800 ปี ชาวไทยใช้ระบบตลาดเสรีตลอดมาตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก “ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า” อย่างไรก็ดี เราไม่มีตำราที่บอกว่าจะพัฒนาระบบนั้นต่อไปอย่างไรมากนักนอกจากคำประพันธ์ของสุนทรภู่ที่ว่า “รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” คำแนะนำนี้ตรงกับตำราซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันในสังคมตะวันตกชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations เขียนโดยนักคิดชาวสกอตชื่อ อดัม สมิธ และพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2319 อันเป็นปีที่อเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษ

ในเนื้อหาของตำราเล่มนั้น สมิธกับสุนทรภู่เห็นตรงกันเรื่องความสำคัญของ “รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว ...” ซึ่งตรงกับเนื้อหาในภาษาอังกฤษเรื่อง Division of Labor หรือ Specialization เนื่องจากคนไทยไม่มีตำราวิชาเศรษฐศาสตร์เช่นเขา เมื่อเราไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยกันในยุโรปและอเมริกา เราจึงเรียนระบบตลาดเสรีในแนวที่ตำราเล่มนั้นวางไว้ อย่างไรก็ตาม หลังเวลาผ่านไปกว่าสองร้อยปี ทฤษฎีและการปฏิบัติวิวัฒน์เรื่อยมาจนผู้คนส่วนใหญ่มักลืมกันไปว่าตำราเล่มนั้นมีรายละเอียดอย่างไร วางอยู่บนสมมติฐานอะไร และผู้เขียนต่อเติมแนวคิดไว้ที่ไหนอย่างไรบ้าง สิ่งที่ใคร่จะชี้ให้ตระหนักมีสองอย่างด้วยกันเกี่ยวสมมติฐานและการต่อเติม

สิ่งหนึ่งซึ่งระบบตลาดเสรีต้องมีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามที่อดัม สมิธ คิดไว้ได้แก่ฐานทางจรรยาบรรณของมนุษย์เราต้องแข็งแกร่ง เรื่องนี้เขามิได้เขียนไว้ใน The Wealth of Nations โดยตรง ทั้งนี้คงเพราะเขาได้เขียนไว้แล้วในตำราทางด้านจรรยาบรรณเรื่อง The Theory of Moral Sentiments ซึ่งพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2302 ต่อมาอดัม สมิธ แน่ใจว่า ระบบตลาดเสรีมีข้อบกพร่องโดยเฉพาะเรื่องการบริโภคเกินพอดีซึ่งมีผลในด้านการกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้า ทว่ามีผลร้ายในการทำลายหลายสิ่งหลายอย่าง ฉะนั้น เขาเองจึงปฏิบัติตัวแบบสมถะและแบบมีเมตตาธรรม เรื่องราวและแนวคิดของเขาในหลากหลายด้านอาจหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ The Authentic Adam Smith : His Life and Ideas เขียนโดยเจมส์ บูชัน ผู้ขาดเวลาหรือไม่แตกฉานในการอ่านภาษาอังกฤษ อาจอ่านบทคัดย่อภาษาไทยซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com

อเมริกานำหน้าในด้านการค้นคว้า ผลิตตำราและการใช้ระบบตลาดเสรีพร้อมทั้งมีนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อกันว่าอยู่ในระดับจ่าฝูงจำนวนมาก แต่ในช่วงหลายปีมานี้ เศรษฐกิจระบบตลาดเสรีที่อเมริกาใช้ติดหล่มจนหาทางออกไม่ได้แม้จะใช้มาตรการทุกอย่างดังที่ตำราบอกว่าควรทำแล้วก็ตาม ท่ามกลางความงุนงงนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นรางวัลโนเบลชื่อโจเซฟ สติกลิตซ์ วิเคราะห์ปัญหาออกมาว่าอยู่ที่ไหน เขาเขียนหนังสือออกมาชื่อ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy หนังสือเล่มนี้มีบทสรุปและวิจารณ์อยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน สติกลิตซ์สรุปว่าต้นตอของปัญหามีหลายอย่างรวมทั้งการขาดจรรยาบรรณ ความต้องการรวยทางลัด การขาดจิตสำนึก การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การแยกดีชั่วไม่ออกและการบริโภคแบบสุดโต่ง อเมริกาพบทางตันและการยกเครื่องทั้งระบบเท่านั้นจึงจะเดินต่อไปได้

มาถึงวันนี้สติกลิตซ์ยังไม่มีข้อเสนอว่าจะยกเครื่องประเทศอย่างไรแน่ แต่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าชื่อเจฟฟรี แซคส์ เสนอว่าจะทำอย่างไรในหนังสือชื่อ The Price of Civilization: Reawakening American Virtue and Prosperity (เล่มนี้มีบทวิพากษ์อยู่ในเว็บไซต์ที่อ้างถึงแล้วเช่นกัน) ข้อเสนอของแซคส์วางอยู่บนฐานของความมีสติและการใช้ทางสายกลางซึ่งไม่ต่างกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ฉะนั้น ถ้าคนไทยไม่เดินตามก้นอเมริกาในด้านการใช้การบริโภคแบบสุดโต่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราจะสามารถหลีกเลี่ยงและแก้ปัญหาที่มาจากการใช้ระบบตลาดเสรีได้โดยการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนไทยส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ เพียงแต่ท่องส่วนประกอบทั้งห้าได้ไม่ต่างกับการท่องศีลห้า ซ้ำร้ายยังมักเข้าใจผิดคิดว่าการนำไปปฏิบัติจำกัดอยู่แค่เรื่องการทำกิจการเล็กๆ ในครัวเรือน

รัฐบาลใหม่ประกาศออกมาหลายครั้งว่าจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงบริหารประเทศ หวังว่าคงต่างกับรัฐบาลที่ผ่านๆ มาซึ่งมักผายลมทางปากมากกว่าคิดจะทำอย่างจริงจัง