ระบบเลือกตั้งกับทางออกของประเทศ (จบ)

ระบบเลือกตั้งกับทางออกของประเทศ (จบ)

ระบบสัดส่วนเช่นว่านี้จะแก้ปัญหาได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันคือ

1. เนื่องจากเขตพื้นที่เป็นภาคซึ่งประกอบด้วยหลายจังหวัด การซื้อสิทธิขายเสียงเพื่อให้ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละภาคจึงต้องลงทุนสูงมากไม่เหมือนกับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในปัจจุบัน ซึ่งมีการกระจุกตัวของฐานเสียงและควบคุมหัวคะแนนได้ง่ายกว่า การหาเสียงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่ไกลห่างจากฐานเสียงของตัวที่มีคะแนนจัดตั้งได้จะต้องแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่เป็นที่ยอมรับของคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มฐานเสียง นั่นหมายถึงว่าการยึดโยงระหว่างประชาชนที่ออกเสียงลงคะแนนให้ผู้สมัครจะยังคงมีอยู่ สมาชิกสภาที่ได้รับการเลือกตั้งสามารถพูดได้ว่ายังเป็นปากเสียงให้ประชาชนในภาคของตนได้เต็มที่และมีความชอบธรรมในการเป็นผู้แทนของภาค

2. สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายพรรค การหาเสียงในระดับภูมิภาคจำเป็นต้องยึดโยงกับนโยบายพรรคอย่างมาก ความชื่นชอบในคนที่รักจะมีอยู่ในวงจำกัดในฐานเสียงหลักของตน แต่ที่ไกลตัวออกไปจะเป็นเรื่องของนโยบายพรรค ฉะนั้นจึงถือเป็นการเลือกตั้งที่ผสมระหว่างการเลือกคนที่รักและพรรคที่ชอบในเวลาเดียวกัน

3. สมาชิกสภาผู้แทนในระบบสัดส่วนจะมีความหลากหลาย และพรรคที่ได้คะแนนลำดับรองมีโอกาสที่จะมีผู้แทนจำนวนหนึ่งมาเป็นปากเสียงด้วย ซึ่งจะแก้ปัญหาการเลือกตั้งแบบเสียงส่วนใหญ่ที่ผู้ชนะคนเดียวในเขตเลือกตั้งเป็นผู้แทนในสภา ในขณะที่พรรคอื่นๆ ไม่มีผู้แทนเป็นปากเสียงในสภาเลย อย่างที่เราเห็นกันว่าในการเลือกตั้งผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ที่เหลือรวมกันแล้วเกินกึ่งหนึ่งกลับไม่มีสิทธิมีเสียง ระบบนี้จะสร้างความเป็นธรรมได้มากขึ้น

4. ระบบสัดส่วนเช่นว่านี้จะมีความใกล้เคียงกับป๊อบปูล่าโหวต (Popular Vote) มากขึ้น นั่นคือการยอมรับจำนวนผู้ออกเสียงทั้งหมดทั้งประเทศที่แท้จริง ซึ่งจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งแบบเสียงส่วนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากพรรคที่ชนะได้ผู้แทนที่ชนะเลือกตั้งจากเขตด้วยคะแนนไม่มากนัก แต่พรรคที่แพ้ได้คะแนนมากกว่าพรรคที่ชนะอย่างมากในบางเขต แต่เมื่อรวมคะแนนเสียงโดยตรงทั้งประเทศปรากฏว่าได้คะแนนใกล้เคียงกับพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งอาจจะมีคะแนนมากกว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเสียอีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริการะหว่างรองประธานาธิบดี อัล กอร์ จากพรรคเดโมแครต กับประธานาธิบดีจอร์จ บุช จากพรรครีพับลิกัน ที่ผู้ชนะคือจอร์จ บุช ได้รับการเลือกตั้งจากคะแนนแบบเสียงส่วนใหญ่ แต่คะแนนรวมทั้งประเทศแพ้ อัล กอร์ ผู้แพ้การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่าระบบเลือกตั้งแบบเสียงส่วนใหญ่ยังขาดความเป็นธรรมอย่างมาก (ตรงนี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ไม่มีระบบเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นอย่างดี)

5. ระบบสัดส่วนนี้อาจมีการกำหนดในรายละเอียดเช่นว่าสมาชิกสภาผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นฝ่ายบริหารจะต้องหมดสมาชิกสภาพ และให้ผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อรองลงไปขยับขึ้นมาแทนได้โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และการบริหารประเทศสามารถเดินหน้าได้อย่างไม่ต้องสะดุด เพราะเป็นไปตามนโยบายพรรคเดิม ซึ่งถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ แล้วได้คนใหม่ต่างพรรค อาจจะมีปัญหาเรื่องนโยบายของพรรคเดิม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของความต่อเนื่องของการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

6. ระบบสัดส่วนสามารถขยายตัวเพื่อให้ประชาชนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกคนที่ชอบได้ที่เรียกว่า ระบบบัญชีเลือกตั้งแบบเปิด (Open Party List) นั่นคือคณะกรรมการเลือกตั้งจะกำหนดว่าผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถกำหนดว่าจะให้ใครในบัญชีรายชื่อเป็นผู้แทนในพรรคที่ตนเลือกเมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง สมมติว่าพรรค ก. ได้รับการเลือกตั้ง ก็ไม่จำเป็นว่าผู้ที่จะได้เป็นผู้แทนจะเป็นลำดับที่หนึ่งเสมอไป ถ้าประชาชนกาให้คนอื่นมากที่สุดคนนั้นก็จะเป็นผู้แทน ซึ่งไม่ใช่คนที่อยู่ในบัญชีลำดับที่หนึ่ง เช่นนี้ก็เป็นการตอกย้ำความเชื่อมโยงระหว่างผู้แทนและประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น เป็นการแก้ข้อครหาว่าผู้แทนระบบสัดส่วนไม่ยึดโยงกับประชาชนเหมือนกับผู้แทนที่มาจากระบบเลือกตั้งแบบเสียงส่วนใหญ่

การเลือกตั้งในระบบสัดส่วนมีความหลากหลาย ระบบบัญชีรายชื่อ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสัดส่วน ระบบสัดส่วนสามารถนำไปประยุกต์ได้อีกแม้การใช้ร่วมกับระบบอื่นๆ เช่น ระบบเสียงส่วนใหญ่ (Majority Vote) ระบบการถ่ายเทคะแนนเสียง (Transferable Vote) ระบบทางเลือก (Alternative Vote) ที่กำหนดให้ผู้ชนะที่หนึ่งต้องได้ คะแนนเสียงใน Popular Vote ด้วยมิฉะนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แล้วเอาผู้ที่ได้รับ Popular Vote สูงสุดมาแทน หรือระบบที่กำหนดให้พรรคที่ชนะที่ได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งต้องแข่งใหม่รอบสองกับพรรคที่ได้คะแนนลำดับรอง (รายละเอียดเหล่านี้ได้เคยเขียนในบทความเรื่องระบบเลือกตั้งแบบบัญชีเปิด อีกหนึ่งทางเลือกของการเมืองใหม่ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 ตุลาคม 2551)

การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญเพราะถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างมาก และมีผลกระทบต่อพรรคการเมือง ระบบพรรคการเมือง และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งจากปัจจุบันเป็นระบบสัดส่วนอย่างแท้จริง ก็จำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนมีการเลือกตั้ง มิฉะนั้นก็คงยากที่จะมีการแก้ไขหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรืออย่างน้อยที่สุด ในเชิงประนีประนอม ก็ต้องมีการตั้ง สมาชิกสภาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคู่ขนานกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้ว รัฐบาลจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้โดยทันที และถือว่าการทำหน้าที่ของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมาจากพรรคใดให้ถือเป็นการรักษาการเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาไม่ให้มีสภาพสุญญากาศทางการบริหารจัดการประเทศ แต่ขณะเดียวกัน เพื่อให้รัฐบาลบริหารได้เต็มที่โดยเร็วก็ต้องพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามแนวทางของการแก้ไข เพราะอย่าลืมว่า หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง