หนี้สาธารณะและโครงสร้างประชากร

หนี้สาธารณะและโครงสร้างประชากร

ปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ กับ โครงสร้างประชากรนั้นมีความเชื่อมโยงกันอยู่ แม้วันนี้ยังไม่เห็นวิกฤติหนี้ภาครัฐ

แต่อนาคตหากไม่จัดการระบบสวัสดิการชราภาพให้ดี ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมีสัดส่วนที่สูงมากในอนาคตเมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป แล้วเราอาจเผชิญปัญหาเหมือนกับหลายประเทศในยูโรโซนประสบอยู่ในเวลานี้

คนจำนวนไม่น้อยวิตกกังวลเรื่องหนี้สาธารณะ และหลายท่านถามผมว่า เรามีโอกาสจะเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะแบบกรีซหรือกลุ่มประเทศยูโรโซนหรือไม่ ผมตอบได้ว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้และในอนาคตอันใกล้จะยังไม่มีวิกฤตการณ์หนี้ภาครัฐเกิดขึ้นแต่ฐานะทางการคลังของประเทศดูอ่อนแอลง เพราะภาระการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เหลืองบประมาณที่จะนำไปใช้เพื่อการลงทุนหรือใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ น้อยลง โครงสร้างงบประมาณก็มีรายจ่ายประจำในสัดส่วนที่สูง 70-80% และเป็นงบที่แทบจะไม่สามารถปรับลดลงได้ พลวัตเศรษฐกิจในอนาคตจึงมีความสำคัญต่อฐานะทางการคลังของประเทศและประชาชนอย่างยิ่ง โดยที่พลวัตเศรษฐกิจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนและผันผวนสูง

หนี้สาธารณะของไทยเวลานี้อยู่ที่ 4.97 ล้านล้านบาท หนี้ส่วนนี้ประกอบไปด้วยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้ของรัฐวิสาหกิจ และ หนี้ของสถาบันการเงินของรัฐที่รัฐบาลค้ำประกัน ในส่วนนี้ไม่รวมหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนี้ของสถาบันเฉพาะกิจของรัฐที่ไม่ได้ค้ำประกัน หนี้ของกองทุนนอกงบประมาณ หนี้ส่วนนี้ประมาณคร่าวๆ มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะเหล่านี้จำนวนหนึ่งอาจไม่เป็นภาระต่องบประมาณ เช่น หนี้ของรัฐวิสาหกิจชั้นดีที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง แม้นก่อหนี้แต่ก็มีความสามารถในการชำระหนี้เองได้ เช่น บมจ. ปตท. กฟผ. ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น หากรวมหนี้สาธารณะตามคำนิยมบวกเข้ากับหนี้นอกคำนิยามที่อาจกลายเป็นภาระงบประมาณได้หากเศรษฐกิจชะลอตัว มูลค่าหนี้จะอยู่ที่ราว 5.3-5.4 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังอยู่ คือ ต่ำกว่า 50% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจไม่ได้บอกเราชัดนัก เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ สภาพคล่องของประเทศ

หากเราต้องการวัดความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศในอนาคตและสภาพคล่อง ต้องเอา หนี้สาธารณะไปเทียบกับรายได้สุทธิของรัฐ ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อรายได้สุทธิของรัฐไทยในอีก 6-7 ปีข้างหน้า อยู่เพียงแค่ 9.5% (ขณะนี้กรีซอยู่ที่ 31%) ทว่าการคาดการณ์ตัวเลขตรงนี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่า เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมายเฉลี่ย 5% เป็นอย่างน้อย อัตราดอกเบี้ยไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก สามารถทำให้งบประมาณสมดุลได้ตามเป้าหมายในปี พ.ศ. 2560 กรณีที่เหตุการณ์ในอนาคตจริงๆ ไม่เป็นไปตามสมมติฐานเลยและออกมาในทางเลวร้ายมากๆ ตัวเลขอาจขึ้นไปแตะ 20% ได้ซึ่งก็ยังต่ำกว่าวิกฤติหนี้สาธารณะในกรีซมากทีเดียว ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ไทยทรุดตัวอย่างรวดเร็วจนไม่อาจประเมินตัวเลขชัดเจนได้ คือ วิกฤตการณ์ทางการเมืองซึ่งก็เริ่มก่อตัวขึ้นระลอกใหม่อีกแล้วในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556

เมื่อรวมตัวเลขเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเข้าไปในหนี้สาธารณะแล้ว ฐานะทางการคลังของรัฐบาลก็ยังถูไถไปได้ หากโครงการทั้งหลายที่กำลังจะดำเนินการทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ไม่รั่วไหลตกหล่นในกระเป๋าของคนกลุ่มเล็กๆ หากเม็ดเงินกระจายสู่ระบบเศรษฐกิจ รายได้ถูกจัดสรรสู่ผู้คนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ไทยจะมีความเสี่ยงต่อวิกฤติทางการคลังจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบคมนาคมต่ำมาก ส่วนสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ของเงินมูลค่ามหาศาล 2 ล้านล้านบาท

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการขนส่งคมนาคมมีความจำเป็นหากเราอยากเห็น “ประเทศ” สู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศย่อมต้องพัฒนาด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิจัยและพัฒนา ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ระบบสวัสดิการ ตลอดจนระบบโทรคมนาคมสื่อสาร เป็นต้น การเรียงลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนต่างๆ มีสำคัญมาก ต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์และบูรณาการเข้าด้วยกันด้วย ฐานะทางการคลังของไทยอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่หนี้ของรัฐบาลทยอยครบกำหนด รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินก้อนใหม่เพื่อต่ออายุ (Roll Over) เงินกู้ก้อนใหม่มีความเป็นไปได้สูงที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นเนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว

ประเทศพัฒนาแล้ว มีโจทย์ใหญ่เมื่อเศรษฐกิจแก่ตัวลงจากโครงสร้างประชากรมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงมาก มีอัตราส่วนการพึ่งพิง หรือ Dependency Ratio สูงขึ้น อัตราส่วนการพึ่งพิงนี้วัดจาก สัดส่วนระหว่างจำนวนคนที่ต้องการการพึ่งพิงหรือคนที่ไม่อยู่ในวัยทำงานอันหมายถึงเด็กและคนชรา กับ จำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน อัตราการว่างงานเองในยุโรปเองก็สูงลิ่ว เกิดแรงงานเคลื่อนย้ายมาทำงานในเอเชียมากขึ้น

ด้วยความสำเร็จของการวางแผนครอบครัวบวกกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ไทยมีอัตราการเกิดเหลือเพียง 1.6% (อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอยู่ที่ 0.5% เท่านั้น) จากระดับ 6% เมื่อ 40-50 ปีก่อน อายุขัยเฉลี่ยคนไทยวันนี้อยู่ที่ 75 ปี ประเทศไทยผ่านจุดที่ดีที่สุดในแง่โครงสร้างประชากรไปแล้ว (ดีที่สุดหมายถึง มีอัตราการพึ่งพิงต่ำ ประชากรในวัยทำงานมาก ประชากรวัยชราและเด็กน้อย) ถือเป็น ช่วงที่เรียกว่า เป็น Demographic Dividend คือ ได้รับผลประโยชน์เหมือนเงินปันผลจากโครงสร้างประชากร ตอนนี้ คนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 34 ปี สังคมโดยภาพรวมยังไม่แก่มาก แต่อีกสิบปีข้างหน้าสถานการณ์น่าเป็นห่วงและดูแล้วจะแย่ลงเรื่อยๆ หากเราไม่เริ่มดำเนินการแก้ปัญหานับตั้งแต่บัดนี้ อายุเฉลี่ยคนไทยเกิน 40 ปี ย่างเข้าปี ค.ศ. 2022 ประชากรในวัยทำงานจะเริ่มลดลง แรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญจะเริ่มขาดแคลน

วันนี้ เราก็ได้เห็น “อาการ” ของภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน มีอัตราการว่างงานต่ำกว่าร้อยละ 1 ไทยเคยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive Industry) และ เราได้สูญเสียสถานะดังกล่าวไปหลายปีแล้ว หากเราไม่แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร นอกจากจะเกิดสภาพประชากรหดตัวแล้ว รายได้ต่อหัวจะลดลง เรากำลังแก่ลงโดยที่ยังไม่ได้รวยขึ้นเท่าไหร่ ยังติดกับดับประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางอยู่ เราจะเจอกับปัญหาภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ความยั่งยืนทางการเงินของระบบสวัสดิการชราภาพสั่นคลอน ระบบประกันสังคมล้มละลายได้ ประเทศพัฒนาแล้วต่างเจอปัญหานี้ในขณะนี้ ตัวเลขภาระหนี้ภาครัฐสูงมาก และมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายสวัสดิการชราภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ระบบสวัสดิการสังคมจำต้องลดผลประโยชน์ด้านสวัสดิการลง พร้อมยืดอายุเกษียณออกไป การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลในกลุ่มยูโรโซนล้วนถูกต่อต้านจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระแสประท้วงต่อต้านการปฏิรูประบบสวัสดิการและระบบการจ้างงานเกิดขึ้นโดยทั่วไปในยุโรป ปัญหาการว่างงานและความวุ่นวายของสถานการณ์แรงงานยังคงดำเนินต่อไป ไม่น่าจะดีขึ้นมากนักหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง

ไทยต้องเจอกับปัญหาหนี้สาธารณะอันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับคนแก่และต้นทุนเพิ่มขึ้นยามสังคมแก่เฒ่าลง ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการชราภาพ ค่ารักษาพยาบาล กำลังแรงงานสร้างรายได้หดหายลง รายได้ภาษีจากการทำงานลดลง เป็นต้น

เราจะแก่เร็วมากโดยที่ยังไม่รวยพอที่จะดูแลประชากรสูงอายุและเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนญี่ปุ่นหรือยุโรป หากเราไม่เริ่มวางแผน เรื่องการปฏิรูปค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการให้มีประสิทธิภาพและทำให้ระบบมีความยั่งยืนทางการเงินโดยลดภาระทางการคลังลง

อาจถึงเวลา ต้องส่งเสริมการเพิ่มประชากรด้วยการมีลูกเพิ่มขึ้นกันล่ะครับ อย่างน้อยครอบครัวละ 2 คนหากสามารถเลี้ยงดูได้อย่างมีคุณภาพ และ อาจต้องรณรงค์ให้ร้องเพลง “เป็นโสดทำไม” กันเชียวล่ะครับ