ความเป็นมนุษย์ : พื้นฐานสันติภาพ

ความเป็นมนุษย์ : พื้นฐานสันติภาพ

มนุษย์ทุกคนย่อมใฝ่หาสันติภาพเพราะเชื่อกันว่าสันติภาพเป็นบ่อเกิดความมั่นคงของชีวิตและสิ่งที่อยู่แวดล้อมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ

หรือการเมืองก็ตามสันติภาพและความเป็นมนุษย์จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของกันและกันในการสร้างสังคมที่มั่นคงและสงบสุข

การพัฒนาสังคมให้เกิดสันติภาพแท้จริงแล้วจึงเป็นภารกิจที่ต่อเนื่องมิใช่แต่เพียงสิ่งที่ต้องกระทำเมื่อเกิดความขัดแย้งและมีการใช้ความรุนแรงเท่านั้น และการเสริมสร้างสังคมสันติภาพที่สำคัญก็คือการเสริมสร้างสังคมที่เน้นความเป็นมนุษย์นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว เราทุกคนทราบดีว่าทุกสังคมย่อมมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา มองในแง่หนึ่งกระบวนการสันติภาพจึงเป็นกระบวนการจัดการความขัดแย้งที่มีผลทั้งในการป้องกันความขัดแย้งในสังคมและฟื้นฟูหรือสมานฉันท์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วได้

กระบวนการสันติภาพจึงมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมและคุ้มครองความเป็นมนุษย์เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเสมอภาคและมีศักยภาพในการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลได้ นั่นคือการส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในสังคม

มองในมุมนี้การพูดคุยเพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากทุกฝ่ายจะมีกรอบแนวความคิดพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในการพูดคุยก็น่าจะเป็นพื้นฐานของการเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพทั้งในเชิงสมานฉันท์ในประเด็นและเหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้งและมีการใช้ความรุนแรงต่อกันมาแล้ว หรือจะใช้เป็นกระบวนการเพื่อป้องกันความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกก็ได้

รูปธรรมที่สำคัญของเรื่องนี้ในระยะแรกจึงควรเป็นการรับฟังความรู้สึกและเหตุผลของแต่ละฝ่ายเสียก่อนที่จะยื่นข้อเรียกร้องใดๆ เพื่อเป็นการกดดันซึ่งกันและกันเสียตั้งแต่เบื้องแรก การเริ่มต้นด้วยการรับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นจะทำให้กระบวนการมีแนวโน้มไปในการเน้นความเป็นมนุษย์เป็นพื้นฐานในประเด็นการพูดคุยประเด็นอื่นได้มากขึ้น

หลักความเป็นมนุษย์จะมุ่งเน้นความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็นและรับฟังซึ่งกันและกันอย่างมีเหตุผลมิใช่การมุ่งชั้นเชิงในการเจรจาเพื่อผลในการได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับกระบวนการที่มีหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนได้เสียและมีส่วนร่วม และมีสถานการณ์การใช้ความรุนแรงเป็นการท้าทายดังเช่นเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้

หากจะขยายความแนวทางการยึดหลักความเสมอภาคในกระบวนการพูดคุยในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกฝ่ายเห็นถึงความจริงใจในการเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ การทำความเข้าใจหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะไม่ถือว่าเป็นการอ่อนข้อหรือลดราวาศอกให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด หากผู้เข้าร่วมการพูดคุยสามารถแสดงความเป็นรูปธรรมของการพูดคุยที่แสดงความเสมอภาคโดยไม่แสดงการเลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการ

เมื่อทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่าการพูดคุยเป็นไปโดยเสมอภาค ความมั่นใจในการเสนอข้อเรียกร้องก็ย่อมอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้และมุ่งสู่ความสมานฉันท์อย่างมีเป้าหมายไม่ใช่เป็นการเสนออย่างใช้ชั้นเชิงเป็นส่วนใหญ่ หรือหยิบยกประเด็นซ้ำซากที่ผ่านมาแล้วมาเป็นต้นทุนแต่เพียงอย่างเดียว

หลักความเป็นมนุษย์ในกระบวนการสันติภาพจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ หลักความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม ซึ่งเข้าใจง่ายว่ามนุษย์ทุกคนต่างเรียกร้องความเป็นรูปธรรมของเรื่องนี้ คนทำผิดต้องถูกลงโทษ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต้องได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาตามสมควร ชุมชนหรือสังคมจะต้องแบ่งรับภาระการดูแลฟื้นฟูความสมานฉันท์อย่างจริงจัง

ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมจึงเป็นอีกแก่นแกนของหลักความเป็นมนุษย์ ซึ่งแต่ละบริบทของความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพจะมีความแตกต่างและหลากหลายในรายละเอียดตั้งแต่ภูมิหลังและที่มาของความขัดแย้ง สถานการณ์ของความรุนแรงที่อยู่ในระดับปรากฏการณ์ รวมทั้งบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนถึงรูปแบบ ขอบเขต และความหมายของความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมของแต่ละสถานการณ์

สำหรับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีที่มาของความขัดแย้งที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในหลายระดับและหลายฝ่าย มิติสิทธิมนุษยชนจึงเป็นกรอบแนวทางในการคลี่คลายความซับซ้อนของปัญหาได้โดยสามารถเชื่อมโยงทุกปัญหาและทุกระดับชั้นของปัญหาเข้าด้วยกันได้ ทำให้การตัดสินใจในการรับข้อเสนอและในการนำเสนอข้อเรียกร้องมีความชัดเจนยิ่งขึ้น