โต้เถียงเรื่องงบ 2 ล้านล้าน ต้องใช้เหตุผลมากกว่านี้

โต้เถียงเรื่องงบ 2 ล้านล้าน ต้องใช้เหตุผลมากกว่านี้

สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ในวันที่ 28-29 มี.ค.นี้ โดยรัฐบาลจะกู้เงินในโครง

การตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท และขณะนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างออกมาตอบโต้กันอย่างดุเดือด แต่เหตุผลที่ยืนอยู่คนละด้าน จึงเป็นธรรมดาที่จะพูดจากจุดยืนของตัวเอง โดยรัฐบาลเห็นว่าเป็นโครงการที่ประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม ส่วนฝ่ายค้านมองว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตมากมาย

ร่างกฎหมายดังกล่าวถือว่าอยู่ความสนใจของประชาชน เนื่องจากมีการกู้เงินจำนวนมากและระยะเวลาใช้คืนยาวนาน 50 ปี แต่หากเท่าที่รับฟังความเห็นของทุกฝ่ายต่างก็เห็นว่าประเทศไทยควรพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานให้มากกว่านี้ แต่จากการติดตามการโต้แย้งในช่วงก่อนการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร พบว่ามีการถกเถียงในเรื่องภาพรวมของร่างพระราชบัญญัติ แต่ไม่มีการถกเถียงในรายละเอียดที่รัฐบาลแถลงออกมาเป็นเอกสาร โดยเฉพาะสมมติฐานหรือเหตุผลที่ใช้อ้างการออกร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน

รัฐบาลประเมินว่าโครงการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.0% เทียบกับกรณีที่ไม่มีการลงทุน จากปี 2556-2563 นอกจากนี้จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนตำแหน่ง แต่จะส่งผลให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.0% ของจีดีพี และการลงทุนจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.16% และคาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น แต่สูงสุดจะไม่เกิน 50% ของจีดีพี ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในกรอบของความยั่งยืนทางการคลัง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังประเมินว่าหากดำเนินการก่อสร้างความโครงการทั้งหมด จะทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อจีดีพี ของประเทศลดลงจากระดับปัจจุบันไม่น้อยกว่า 2% ซึ่งปัจจุบันต้นทุนอยู่ที่ระดับ 15.2% และจะทำให้คนเดินทางใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดลงเหลือ 40% จากปัจจุบัน 59% อีกทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและการปรับปรุงเส้นทางรถไฟ จะทำให้ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 39 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และขบวนรถโดยสารมีความเร็วเพิ่มจาก 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง

รัฐบาลยังอ้างว่าปริมาณการขนส่งทางรางจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% จากเดิม 2.5% สัดส่วนปริมาณขนส่งสินค้าทางน้ำเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 19% และลดการสูญเสียจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่าปีละแสนล้านบาท สัดส่วนการใช้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็นไม่น้อยกว่า 30% สินค้าผ่านชายแดนจะเพิ่มไม่น้อยกว่า 5% ปริมาณผู้โดยสารทางรถไฟเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนเที่ยวต่อปี เป็น 75 ล้านคนเที่ยวต่อปี อีกทั้งลดระยะเวลาเดินไปเมืองภูมิภาครอบกทม.ไม่เกิน 90 นาที

จากข้อมูลที่รัฐบาลอ้างมาข้างต้น และติดตามการโต้แย้งเรื่องงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท เรายังไม่เคยได้ยินว่าบรรดานักการเมืองโต้แย้งกันเรื่องสมมติฐานเหล่านี้ที่ใช้ในการกู้เงิน ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากสมมติฐานเหล่านี้ไม่สมเหตุสมผล ก็เท่ากับว่าการกู้เงินไม่มีเหตุผลรองรับ แต่หากเป็นตัวเลขน่าเชื่อถือ รัฐบาลก็มีเหตุผลในการกู้เงิน เราหวังว่าการอภิปรายในสภา จะสร้างความชัดเจนเหล่านี้ เพราะเราเชื่อว่าประชาชนทั่วประเทศกำลังรอรับฟัง ซึ่งดีกว่าการเล่นโวหารของนักการเมือง