เหลียวญี่ปุ่น แลไทย : ผู้เยาว์ในการเลือกตั้ง

เหลียวญี่ปุ่น แลไทย : ผู้เยาว์ในการเลือกตั้ง

ญี่ปุ่นเพิ่งจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผลของการเลือกตั้งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ของญี่ปุ่น (DPJ: Democrat Party of Japan)

พ้นไปจากตำแหน่งรัฐบาลอันเนื่องมาจากการพ่ายแพ้แบบขาดลอยให้แก่พรรค LDP (Liberal Democratic Party)


ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นที่คาดหมายกันมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หลายคนที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยด้วยต่างก็ปฏิเสธที่จะเลือกพรรคการเมืองนี้อีกครั้ง ทั้งที่ในตอนขึ้นมาสู่ตำแหน่งเมื่อสี่ปีที่แล้วหลายคนคาดหมายว่าจะมีบรรยากาศแห่ง “ความเปลี่ยนแปลง” เกิดขึ้น แต่ในที่สุดก็ไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เห็นอย่างชัดเจน แม้จะไม่ค่อยชอบพรรค LDP คู่แข่งของพรรคประชาธิปัตย์มากเท่าไหร่แต่คนจำนวนมากก็เลือกที่จะหย่อนบัตรให้

นอกจากนี้การสำรวจความเห็นของประชาชนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตราบจนกระทั่งก่อนเลือกตั้งก็แสดงให้เห็นแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์คงจะประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน และภายหลังจากการเลือกตั้งผลก็เป็นไปเช่นนั้นจริง เท่าที่ผมได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ไม่มีโพลล์ใดเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งเลยแม้แต่แห่งเดียว

ประเด็นสำคัญไม่ใช่ว่าการทำโพลล์ในญี่ปุ่นมีความแม่นยำกว่าการทำสารพัดโพลล์ในสังคมไทย (เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมการทำโพลล์ส่วนใหญ่ในประเทศนี้จึงมาจากสถาบันอุดมศึกษาเป็นสำคัญ จนดูเหมือนว่าเป็นงาน “วิชาการ” สำคัญที่แต่ละสถาบันจำเป็นต้องทำ ในขณะที่ประเด็นปัญหาอื่นๆ กลับไม่ค่อยได้รับการให้ความสำคัญมากนัก เช่น นโยบายจำนำข้าว การสร้างเขื่อน นโยบายพลังงานของประเทศ เป็นต้น) แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากสังคมไทยก็คือ การทำสำรวจความคิดเห็นสามารถกระทำไปได้อย่างต่อเนื่องตราบจนกระทั่งก่อนหน้าวันเลือกตั้งก็ยังปรากฏผลการสำรวจให้เห็นทางสื่อมวลชน

ขณะที่ประเทศไทยการทำโพลล์จะถูกห้ามเผยแพร่ผลในช่วงระยะเวลา 7 วันก่อนหน้าการเลือกตั้ง อะไรคือเหตุผลสำคัญของการห้ามเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าทำความเข้าใจไม่น้อย

ส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากความเข้าใจว่าผลการทำโพลล์จะมีผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งก็คงมีอย่างแน่นอนแต่จะมากหรือน้อยนั้นคงยากที่จะตอบได้ ผู้คนโดยทั่วไปย่อมมีปฏิกิริยาต่อข้อมูลข่าวสารไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่จะให้บอกว่าจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมดจากผลโพลล์ก็ไม่น่าจะง่ายดายเพียงนั้น

ถ้าได้ฟังโพลล์ว่าบุคคลที่ตัวเองสนับสนุนนั้นมีคะแนนพ่ายแพ้แบบไร้ทางสู้ จะหมายความว่าผู้สนับสนุนก็จะพากันนอนอยู่บ้านโดยไม่ออกไปหย่อนบัตรลงคะแนนกระนั้นหรือ ทำไมจึงไม่เป็นในทางตรงกันข้ามว่าผู้สนับสนุนก็จะยิ่งพากันรณรงค์อย่างเข้มแข็งมากขึ้นเพื่อชักชวนผู้อื่นให้เห็นคล้อยตามกับตนเองมากขึ้น ผลของโพลล์จึงสามารถอธิบายไปในทิศทางที่หลากหลายได้ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ประกอบ

ความสำคัญของโพลล์อาจไม่ได้มากอะไรไปกว่าข้อมูลอีกหนึ่งชุดสำหรับผู้เลือกตั้ง อาจไม่แตกต่างจากข้อมูลอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่อาจมีผลต่อการขบคิดของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ไม่แตกต่างไปจากข้อมูลเรื่องการหนีทหารหรือการหลบเลี่ยงภาษีของนักการเมือง

แต่ทำไมจึงมีการห้ามการทำโพลล์อย่างจริงจังและถือเป็นความผิดที่ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ผู้เขียนคิดว่าจะทำความเข้าใจเรื่องข้อห้ามเรื่องการทำโพลล์ในการเลือกตั้งในสังคมไทยได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทรรศนะที่มีต่อประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสังคมนั้นๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร เป็นคนที่มีความสามารถเต็มตัวหรือว่ายังไร้ความสามารถในทางการเมือง ซึ่งหากพิจารณาควบคู่ไปกับกฎเกณฑ์เรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามขายเหล้าในวันก่อนวันเลือกตั้งในสังคมไทยที่ได้กลายเป็น “บรรทัดฐาน” ที่ดูราวกับว่าจะไม่มีใครปฏิเสธถึงข้อห้ามอันนี้

นักวิชาการญี่ปุ่นท่านหนึ่งบอกว่าการห้ามกินเหล้าก่อนวันเลือกตั้งถือว่าเป็นข้อห้ามที่ดูถูกประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

การห้ามการขายเหล้าก่อนวันเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ด้วยสมมุติฐานว่าประชาชนอาจถูกซื้อหรือถูกชักจูงให้ไปลงคะแนนให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยการเลี้ยงเหล้าเลี้ยงเบียร์ หรือพูดให้ง่ายเข้าก็คือว่าประชาชนพร้อมจะขายความเห็นทางการเมืองด้วยเหล้าเพียงไม่กี่แก้วเท่านั้น

ตรรกะเช่นนี้ทำงานในแบบเดียวกันกับความเข้าใจเรื่องการซื้อขายเสียงที่ดำรงมายาวนานในสังคมไทย เพราะฉะนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการห้ามไม่ให้บรรดาร้านอาหารต่างๆ ขายเหล้าในวันก่อนเลือกตั้ง แต่คำอธิบายเช่นนี้ก็ไม่เคยพูดพิสูจน์ด้วยกระบวนการที่พิสูจน์ได้แต่อย่างใด หากกลายเป็นสามัญสำนึกที่ฝังแน่นอยู่ในหัวของคนในสังคมไทย และเป็นการปิดหนทางในการทำความเข้าใจต่อการเลือกตั้งของประชาชนว่ามีความสัมพันธ์กับเงื่อนไขต่างๆ อย่างไรบ้างในแต่ละห้วงเวลา

ประชาชนในสังคมไทยอาจมีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันก็จริง แต่ว่าในกฎกติกาในกระบวนการนี้ล้วนแต่วางอยู่บนความเข้าใจว่าประชาชนไม่ความสามารถในการตัดสินใจหรือวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุมีผลในแบบที่ควรจะเป็น

พฤติกรรมหลายประการที่อาจมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิของประชาชนจึงต้องถูกควบคุมไว้อย่างเข้มงวด การทำโพลล์และการห้ามกินเหล้าเป็นเพียงสองตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น

เมื่อประชาชนยังไม่สามารถเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะในทางการเมือง ความเห็นของประชาชนจึงไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์มากแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการในทางการเมืองจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลด้วยอำนาจนอกระบบ ฯลฯ ก็จึงไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด ก็เพราะเป็นผู้อ่อนเยาว์ในทางการเมืองจึงย่อมจำเป็นที่จะต้องมีผู้มีบารมีมาช่วยให้ชี้นำหรือรวมถึงสั่งการให้การเมืองดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมเช่นที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในสังคมไทย

การจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะแสดงให้เห็นว่าบัดนี้ข้าพเจ้าเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการตัดสินใจเฉกเช่นบุคคลอื่นๆ อาจจะเริ่มด้วยการยกเลิกการห้ามขายเหล้าและการอนุญาตให้ทำโพลล์ได้โดยไม่มีข้อห้ามเช่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน