เสริมทักษะบุคลากรหนุนสกิล พัฒนาผ่าน No-code Platform

เสริมทักษะบุคลากรหนุนสกิล พัฒนาผ่าน No-code Platform

ปัจจุบันมีองค์กรขนาดใหญ่ใช้ Low-Code หรือ No-code Platform สำหรับพัฒนาแอปฯ

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาฝ่ายดิจิทัลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมอบรมการพัฒนาแอปพลิเคชั่นแบบ No-code โดยใช้โปรแกรม Google App Sheet เปิดให้บุคลากรฝ่ายต่างๆของมหาวิทยาลัยเข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อน หลังจากการอบรมก็มีการจัด Hackathon เพื่อให้ผู้เข้าอบรมแข่งขันการพัฒนาแอปใหม่ๆเพื่อนำมาใช้ในงานของตัวเอง

สิ่งที่พบคือทีมที่เขียนโปรแกรมเก่ง ๆ สามารถทำแอปจากโปรแกรม App Sheet ที่ซับซ้อนได้ดีมาก ในขณะที่ทีมชนะเลิศกลับเป็นทีมที่ไม่มีประสบการณ์การเขียนโปรแกรมมาก่อน แต่สามารถสร้างแอปออกมาได้สวย และทำระบบงานได้ดีมาก แต่โดยรวมก็พบว่าทุกทีมเก่งและได้ผลงานเกินความคาดหมาย

เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาไปไกลมาก เมื่อคิดย้อนหลังกลับไปเมื่อผมเริ่มเขียนโปรแกรมใหม่ๆเรียนเขียนโปรแกรมภาษา   ฟอร์แทรน (Fortran) จะต้องใช้เครื่องเจาะบัตรเขียนโปรแกรม กว่าจะทำการเขียนโปรแกรมแก้โจทย์ง่ายๆ ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ และต้องเขียนโปรแกรมจำนวนหลายร้อยบรรทัด

แสดงให้เห็นว่าภาษาคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากภาษาที่ยากต้องเขียนโปรแกรมนับพันบรรทัดก็กลายเป็นภาษาง่ายๆ เขียนไม่กี่คำสั่งก็สามารถทำงานได้ตามที่ต้องการ ในปัจจุบันคนจำนวนมากก็หันไปเรียนภาษา Python ที่ไม่ได้ซับซ้อนเท่ากับภาษาในรูปแบบเดิมๆ และวันนี้การพัฒนาแอปออกแบบกราฟฟิกต่างๆง่ายกว่าเดิมมาก

แต่ที่น่าสนใจคือการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เริ่มเข้ามาสู่ยุคที่มี No-code Platform กล่าวคือเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เทคนิคด้านการเขียนโปรแกรม ก็สามารถสร้างแอปพลิเคชันได้ด้วยตัวเองหรืออาจเป็น Low-code Platform ที่ช่วยให้การพัฒนาแอปทำได้รวดเร็วขึ้น ด้วยการเขียนโปรแกรมให้น้อยที่สุด ซึ่ง Low-Code Platform เหมาะสำหรับคนที่เป็นนักพัฒนาโปรแกรม มากกว่าคนทั่ว ๆ ไป เพราะผู้ใช้จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่ง

แพลตฟอร์มประเภท No-code จะใช้ Graphical User Interface (GUI) ที่เป็นการคลิก เลื่อน หรือวาง ปุ่ม หรือคำสั่งต่างๆที่เครื่องมือได้ออกแบบมาให้แล้ว 

ในการพัฒนาแอป ทำให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ในการพัฒนาโปรแกรมสามารถใช้งานได้โดยง่ายเหมาะสมกับทุกคนที่ต้องการพัฒนาแอป และอาจรวมถึงนักพัฒนาโปรแกรมก็สามารถใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อพัฒนาแอป ให้รวดเร็วยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

การนำแพลตฟอร์ม Low-code หรือ No-code มาช่วยพัฒนาแอป คือ

1.ช่วยทำให้หาทีมงานในการพัฒนาแอปได้ง่ายขึ้น เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ถูกพัฒนามาให้คนทั่วไปสามารถใช้งานได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอที หรือนักพัฒนาโปรแกรมเก่งๆ 

2.ช่วยทำให้สามารถพัฒนาโปรแกรมได้รวดเร็วขึ้น จากที่อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนก็เหลือเพียงไม่กี่วัน 

3.สามารถปรับเปลี่ยนโปรแกรมตามความต้องการของผู้ใช้ได้รวดเร็วขึ้น และเป็นการลดความเสี่ยงในการพัฒนาโปรแกรม

4.สร้างความร่วมมือระหว่างฝ่ายธุรกิจและฝ่ายไอทีได้ดียิ่งขึ้น เพราะฝ่ายธุรกิจสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาโปรแกรมได้ง่ายขึ้น

5.เป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ แทนที่จะต้องลงทุนจ้างบริษัทภายนอกหรือนักพัฒนาโปรแกรมที่อาจไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริง

บริษัทวิจัย Gartner ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2024 การพัฒนาแอปพลิเคชันโดยใช้ Low-Code Platform จะมีมากถึง 65% โดย 75% ขององค์กรขนาดใหญ่จะใช้ Low-Code Platform หรือ No-code Platform สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน ในปัจจุบันมีเครื่องมือ Low-code หรือ No-code Platform ในการทำระบบไอทีต่างๆมากมาย ตั้งแต่การทำแชทบอทโมบายแอป การทำอีคอมเมิรซ์ ทำแอปในการรวบรวมข้อมูล การทำเว็บไซต์ รวมถึงการทำแอปด้านธุรกิจต่างๆ

กระแสที่องค์กรต่างๆต้องปรับตัวในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีไอทีในองค์กร ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านไอที ประกอบกับความล่าช้าในการพัฒนาแอปต่างๆ การพัฒนาบุคลากรในองค์กรฝ่ายต่างๆให้สามารถมาช่วยพัฒนาไอทีด้วย

No-code Platform อย่างที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำอาจเป็นคำตอบที่ดี โดยเน้นพัฒนาให้บุคลากรทุกฝ่ายมีทักษะในการพัฒนาแอป และให้บุคลากรเข้าใจได้ว่าการพัฒนาแอปในปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายนิดเดียวไม่ได้ซับซ้อนแบบในยุคเดิมซึ่งทุกคนก็สามารถทำได้