หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน กับโอกาสในการมีส่วนร่วมต่อความยั่งยืน

หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน กับโอกาสในการมีส่วนร่วมต่อความยั่งยืน

แนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ที่เรียกรวมๆ กันว่า “ESG” นั้นเติบโตและกลายเป็นส่วนสำคัญของภาคธุรกิจ หลังจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศแปรปรวน การเสียสมดุลทางด้านชีวภาพต่าง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ หรือแม้แต่ การเลี่ยงภาษี การฟอกเงิน และการทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆ นั้น

ทุกคนตระหนักดีว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขยากหากปราศจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในช่วงหลังภาครัฐและเอกชนก็ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการผลักดันและส่งเสริมให้ทุกคนทุกฝ่ายคำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาวมากขึ้น

ซึ่งในแต่ละคนแต่ละธุรกิจก็จะมีบทบาทที่แตกต่างกันไปในการมีส่วนร่วม ภาคการเงินกับเรื่องของความยั่งยืนก็มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนยั่งยืน หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่มีส่วนผลักดันหรือกระตุ้นให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น

หลัก ESG เป็นแนวทางในการทำธุรกิจที่ยั่งยืนที่บริษัทต่างๆ นำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน สร้างความมั่นคงในระยะยาว และส่งเสริมมูลค่าเพิ่มของกิจการ

ข้อดีอย่างหนึ่งของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ การเปิดโอกาสให้เข้าถึงต้นทุนทางการเงิน (Cost of Capital) ที่ต่ำกว่าและได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น และหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกเหล่านั้น ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนเป็นทางเลือกของการลงทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2019 โดยเกิดก่อนในต่างประเทศ ในขณะที่บ้านเรามีการจัดจำหน่ายรุ่นแรกในปี 2021 โดยเริ่มก่อนในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน จุดเด่นของหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน คือ การที่อัตราดอกเบี้ยสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามผลสำเร็จของตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะและเป้าหมายของผู้ออก ในช่วงที่ผ่านมาแม้จะยังจำกัดอยู่ที่นักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ แต่ก็ดูเหมือนว่าเสียงตอบรับจะดีไม่น้อย และน่าจะมีการออกตราสารในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

องค์ประกอบของหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ได้แก่

(1) การเลือกตัวชี้วัด (Selection of Key Performance Indicators) ที่เป็นส่วนสำคัญและมีนัยสำคัญต่อการทำธุรกิจของผู้ออก และสามารถวัดค่าได้ รวมถึงสามารถยืนยันโดยบุคคลภายนอกได้

(2) การกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Calibration of Sustainability Performance Targets) ของตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่นอกเหนือไปจากการดำเนินธุรกิจปรกติ และมีกรอบเวลาที่ต้องปฏิบัติตามให้สำเร็จ

(3) คุณลักษณะของตราสารหนี้ (Bond characteristics) ที่เปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายต่างๆ บรรลุผลหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมการปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังรวมถึงการปรับโครงสร้างของตราสารหนี้ในลักษณะอื่นด้วยตามแต่ตกลง

(4) การรายงาน (Reporting) คือ การเผยแพร่เป้าหมาย ความคืบหน้า ตัวชี้วัดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง 

(5) การยืนยัน (Verification) ของการบรรลุเป้าหมายจากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่เป็นอิสระเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมกับนักลงทุน โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนของผู้ออกสามารถนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจเหมือนหุ้นกู้ทั่วไป ซึ่งในจุดนี้จะแตกต่างจากตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการใช้เงินด้วย

ประโยชน์สำหรับนักลงทุนนั้นมีทั้งสองด้าน โดยหากบริษัทสามารถบรรลุตัวชี้วัดที่ตกลงกันได้นั้น แม้นักลงทุนอาจจะได้รับดอกเบี้ยที่ลดลง แต่การบรรลุตัวชี้วัดต่างๆ เหล่านั้นสะท้อนความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นของกิจการ ลดความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด เพิ่มมูลค่าของกิจการได้

รวมถึงลดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ด้วย แต่หากผู้ออกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ นักลงทุนก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่มากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของผู้ออกหรือชื่อเสียงที่อาจจะเสียหายลง

สำหรับนักลงทุน การมีส่วนร่วมต่อความยั่งยืนผ่านการลงทุนนับเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีส่วมร่วมกัน (Partnership) โดยส่งเสริมผ่านหน้าที่ที่แต่ละคนพึงมี แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องระวัง เช่น เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นจะต้องชัดเจน และเพิ่มเติมไปจากสิ่งที่ผู้ออกตราสารพึงกระทำในภาวะปรกติอยู่แล้ว หรือเรื่องของ การฟอกเขียว (Greenwashing) ที่ใช้เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นทางผ่านสำหรับการเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง โดยปราศจากความพยายามที่แท้จริงในการมีส่วมร่วมต่อความยั่งยืน

การออกตราสารยั่งยืนต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ตราสารหนี้ยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต สอดคล้องไปกับความมีส่วนรวมของทุนคนต่อความยั่งยืนที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เป็นทางเลือกของการลงทุนที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

สุดท้ายนี้การลงทุนเองก็ยังคงต้องพิจารณาภาพรวมของตราสารตามปรกติ ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเงินของผู้ออก อุตสาหกรรม แนวโน้มเศรษฐกิจ แต่หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนนับเป็นทางเลือกที่สำคัญ แม้จะเป็นการลงทุนที่ยังใหม่ แต่ก็เป็นการลงทุนที่นำเสนอโอกาสให้ทุกคนมีส่วนต่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ร่วมกันผ่านการลงทุนครับ

ที่มาของข้อมูล  https://www.icmagroup.org/assets/documents/Sustainable-finance/Translations/Thai-SLBP-2020_06.pdf หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด