วิพากษ์นโยบายสาธารณะ

วิพากษ์นโยบายสาธารณะ

ดูเหมือนว่า ยุคนี้เป็นยุคที่คนไทยเราส่วนใหญ่ไม่ว่าจะอาชีพใด อายุเท่าไหร่ หรืออยู่วงการไหน ก็มีกรอบวิธีคิดที่มีการเมืองแบบแบ่งสีแบ่งฝ่าย

แบ่งค่ายแบ่งผลประโยชน์ เข้าครอบงำกระบวนทัศน์เราไปเสียหมด ซึ่งถึงแม้หลายๆ คนอาจปฏิเสธการถูกป้ายสีหรือการปะยี่ห้อทางการเมืองของตัวเองอยู่ในที แต่ลึกๆ แล้วคงหนีไม่พ้นฝักฝ่ายที่ต้องสังกัด อันเนื่องมาจากการขาดพื้นที่ยืนแบบกลางๆ ให้พิจารณา เพราะหากไม่เลือกฝักเลือกฝ่ายจะกลายเป็นเห็นแก่ตัวและถูกประฌามว่าเป็นพวกไม่ตื่นตัวทางการเมืองได้

ยกตัวอย่างเช่นการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ทยอยออกมาเพื่อเอาอกเอาใจประชาชนในแนวประชานิยมโดยเฉพาะนโยบายรถคันแรก ก็ดูเหมือนจะมีกรอบการเมืองแบบแบ่งสีเลือกค่ายเข้ามาเป็นวาทกรรมหลักในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างปฏิเสธไม่ได้

สำหรับนโยบายรถคันแรก ที่ถือว่าเป็นนโยบายประชานิยมชิ้นโบแดงที่ถูกนำมาปฏิบัติใช้และกำลังจะมีผลจริงเมื่อมีการคืนภาษีในแบบ “cash back” ให้กับบรรดาผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ทั้งหลายเมื่อปีที่ผ่านมา (แต่ปัจจัยสี่แบบบ้านหลังแรกไม่ยักกะเป็นแบบนี้) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าใครที่รักหรือเกลียดรัฐบาลชุดนี้ก็ตาม แต่เมื่อผลประโยชน์มันมาถึงมือก็ต้องคว้าไว้ก่อน ดังนั้นจากการกระตุ้นการบริโภคดังกล่าวจึงทำให้มีประชาชนขอใช้สิทธิ์นโยบายนี้และซื้อรถใหม่ป้ายแดงกันเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านคัน อันส่งผลให้การผลิตรถยนต์ของไทยทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 50 ปี และนำไปสู่การทำงานของภาคการคลังที่ต้องเตรียมจ่ายเงินคืนประชาชนเป็นวงเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท

แน่นอนว่า นโยบายดังกล่าวมีทั้งคนกล่าวประฌามและชื่นชม ซึ่งเท่าที่สังเกตก็เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้กลับไม่หลุดจากกรอบวาทกรรมของฝักฝ่ายเสื้อสี รวมถึงขั้วความขัดแย้งแบบอำมาตย์-ไพร่ซะทีเดียว เนื่องจากในมุมมองที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวได้ให้วิวาทะที่มองว่า รถคันแรกคือ โอกาสการเข้าถึงทรัพยากรของสังคม ที่ให้ชาวบ้านร้านตลาดซึ่งไม่ได้เป็นอำมาตย์มีสิทธิในการเป็นเจ้าของรถกับเขาบ้าง ดังนั้นแนวคิดการสนับสนุนนโยบายรถคันและการตอบโต้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเลยกลายเป็นเรื่องชนชั้นไปเสียชิบ หรือหากมองโดยการเอาทฤษฎีทางนโยบายมาจับ ก็ดูจะเข้าอีหรอบแนวคิดสังคมพหุนิยมที่มองว่าเมื่อเราอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยคนหลากหลาย ผลของนโยบายก็ย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มผู้รับนโยบาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ๆ ของประเทศไทยคือบริษัทพลังงาน บริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงประชาชนผู้ต้องการมีรถเพื่อยกสถานะทางชนชั้น ดังนั้นในเมื่อนโยบายนี้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้เราก็ต้องออกนโยบายเอื้อกลุ่มที่มีเสียงดัง ตามแนวคิดเสียงข้างมากของประชาธิปไตย

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มที่มีความเห็นคัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายชุดนี้ก็ถูกตีความกลายเป็นกลุ่มอำมาตย์ที่เห็นแก่ตัว ซึ่งสามารถถอยรถป้ายแดงออกมาได้โดยไม่ต้องพึ่งนโยบายลดแลกแจกแถมจากรัฐบาล และเที่ยวออกมาร้องแรกเพียงเพราะอยากจะกดสถานะความยากจนให้กับไพร่ผู้เข้าร่วมนโยบายรถคันแรกไม่ให้ได้ลืมตาอ้าปาก และดักดานอยู่กับรถมอเตอร์ไซค์หรือรถขนส่งมวลชนเท่านั้น

หลังจากฟังการตอบโต้ไปมาจากทั้งสองฝั่งทำให้มีความรู้สึกว่า การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะที่ควรเป็นเรื่องปกติของนักวิชาการ ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงเรื่องทางอารมณ์ของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนไม่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ถึงผลดีและผลเสียอันเกิดจากนโยบายนั้นๆ เรียกได้ว่ากลายเป็นเรื่องของ "นโยบายข้าใครอย่าแตะ" ไปเสียแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง ตรรกะด้านนโยบายสาธารณะคงปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของการแย่งชิงทรัพยากรสาธารณะของกลุ่มต่างๆ โดยเสรีเห็นจะไม่ได้ เพราะนโยบายสาธารณะที่ออกมาควรตอบโจทย์ทิศทางของประเทศในอนาคต อันอยู่บนฐานของผลประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ผลประโยชน์สาธารณะที่ว่าควรมีพื้นฐานของแนวคิดอรรถประโยชน์สูงสุดที่มีการชั่งน้ำหนักถึงข้อดี-ข้อเสียของการออกนโยบายนั้นๆ มากกว่าที่จะเป็นการออกนโยบายซึ่งอวยให้กลุ่มผลประโยชน์ผู้มีอำนาจหรือแบบพวกมากลากไป

มาถึงตรงจุดนี้ คำถามที่เกิดขึ้นในนาทีนี้คือ ตกลงทิศทางในการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศไทยหลักใหญ่ใจความจะเน้นไปที่ถนนกับรถยนต์ใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ แสดงว่าบรรดานักนโยบายที่คิดค้นและนำเสนอนโยบายรถคันแรกนี้ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าประโยชน์ที่เกิดจากการที่คนไทยได้โอกาสมีรถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงการกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์นี้ เมื่อหักลบด้วยโทษที่จะเกิดขึ้นตามมาจากนโยบายนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษ ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาหนี้สิน (ทั้งหนี้ภาครัฐและภาคครัวเรือน) รวมถึงปัญหาด้านพลังงานแล้ว รัฐบาลสามารถระบุได้ว่ายังไงมันก็มีประโยชน์เชิงบวกกับสังคมมากกว่า...เราๆ ท่านๆ ก็จะได้เป็นที่รับรู้อย่างชัดแจ้งกันไปว่าประเทศไทยจะมีทิศทางการพัฒนาไปทางไหน พร้อมทั้งตอบลูกหลานได้ว่า นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เลือกให้พวกเขา

หากการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะปราศจากการสวมหัวโขนทางการเมือง ลดเลิกการเสียดสีด้วยวิวาทะ ที่มุ่งแต่จะเอาชนะคะคานทำสงครามน้ำลายกันชนิดถูสีข้างสู้จนแต่ละคนช้ำไปตามๆ กันแล้ว เราคงได้เห็นนโยบายสาธารณะดีๆ ที่ไม่ถูกป้ายสีทางการเมืองพาเหรดออกมารับใช้ประชาชนอีกมากมาย สุดท้ายเพียงหวังใจว่า คนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจะไม่ใช้ผู้ที่เสพติดประชานิยมจนโงหัวไม่ขึ้นเสียเอง