อีกมุมหนึ่งของเศรษฐกิจโลกที่ควรรู้

อีกมุมหนึ่งของเศรษฐกิจโลกที่ควรรู้

อาทิตย์ที่แล้ว ผมชอบบทความนำในนิตยสาร ดิ อิโคโนมิส (The Economist) ที่ได้วิจารณ์สหรัฐว่ากำลังเป็นเหมือนยุโรป

หลังจากสหรัฐประกาศข้อตกลงแก้ไขปัญหาหน้าผาการคลัง ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลโอบาม่าและพรรคฝ่ายค้าน ที่โดยสาระแล้ว ไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่มีอยู่อย่างไร เพียงแต่เลื่อนการตัดสินใจออกไปอีกสามเดือน ซึ่งก็เหมือนที่รัฐบาลสหภาพยุโรปมักจะทำในการแก้ไขปัญหา คือ ไม่ตัดสินใจในสาระสำคัญว่าปัญหาหนี้ที่มีอยู่จะแก้ไขอย่างไร มีแต่ตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาตามสถานการณ์หรือที่มาตามกำหนดเวลา แต่ไม่แตะสาระว่าจะลดหนี้ที่มีอยู่อย่างไร อันนี้ทำให้นิตยสาร ดิ อิโคโนมิส ล้อเลียนว่า สหรัฐกำลังเป็นแบบยุโรป

การไม่ตัดสินใจหรือไม่มีมาตรการชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปที่มีหนี้สูง ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปยืดเยื้อมามากกว่าห้าปี และปีนี้ก็ย่างเข้าปีที่หก การไม่แก้ไขปัญหาทำให้ปัญหาสำคัญที่เศรษฐกิจยุโรปมีไม่ดีขึ้น คือ ระดับหนี้สาธารณะในประเทศที่มีหนี้มากยังสูง เศรษฐกิจขยายตัวต่ำหรือไม่ขยายตัว และอัตราการว่างงานสูง ที่สำคัญสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยืดเยื้อทำให้ความเป็นอยู่ของคนในยุโรปลำบากขึ้น และนับวันจะแย่ลง ดูจากตัวเลขการว่างงาน ที่ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วสูงเป็นประวัติการณ์ คือ อัตราการว่างงานในกลุ่มประเทศยูโรโซนอยู่ที่ร้อยละ 11.8 อัตราการว่างงานของประชากรวัยหนุ่มสาวอยู่ที่ร้อยละ 24.4 และในประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจมาก เช่น สเปน กรีซ อัตราการว่างงานของประชากรอายุต่ำกว่า 25 ปี อยู่ที่ร้อยละ 57 อัตราการว่างงานที่สูงขนาดนี้ นอกจากจะล่อแหลมต่อการเกิดปัญหาทางสังคมแล้ว ยังทำให้ยอดหนี้สาธารณะลดลงได้ยาก เพราะแรงกดดันต่อฐานะการคลังที่จะมาจากระบบสวัสดิการสังคมที่ประเทศเหล่านี้มีอยู่

ในกรณีของสหรัฐ ข้อตกลงหน้าผาการคลังโดยฝ่ายการเมืองก็คล้ายกัน คือ ไม่มีการตัดสินใจในประเด็นสำคัญ มีแต่การออกกฏหมายเพื่อเพิ่มภาษีบางประเภท และเลื่อนการตัดสินใจเรื่องการตัดทอนการใช้จ่ายออกไปถึงเดือนมีนาคม ทำให้ไม่ชัดเจนว่า การแก้ปัญหาหนี้ในสหรัฐจะเดินต่ออย่างไร คือ รัฐบาลสหรัฐจะลดการใช้จ่ายอย่างไร จะเพิ่มเพดานหนี้หรือไม่ และจะมีแนวทางอย่างไรที่จะลดระดับหนี้สาธารณะในระยะยาว เมื่อไม่มีคำตอบ ถึงเดือนมีนาคม ตลาดการเงินก็คงจะผันผวนอีก และฝ่ายการเมืองทั้งสองพรรคคงพยายามหาทางออกระยะสั้นเพื่อให้การใช้จ่ายตามงบประมาณสามารถเดินต่อได้ แต่ไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่

ความไม่แน่นอนของนโยบาย และการไม่มีแนวทางชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปปัจจุบัน จมอยู่ในวงจรความอ่อนแอ จนพูดได้ว่าเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐขณะนี้กำลังอยู่ในโลกเศรษฐกิจใหม่ ในกรณีของสหรัฐ โลกเศรษฐกิจใหม่ ก็คือ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อต่ำ การว่างงานสูง รัฐบาลมีหนี้สูง นโยบายการเงินก็คือ อัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ และธนาคารกลางอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการคิวอี เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและระบบการเงิน แต่ถึงเศรษฐกิจจะแย่ เงินดอลล่าร์สหรัฐยังเป็นเงินสกุลหลักที่โลกต้องการถือ ธนาคารกลางประเทศตลาดเกิดใหม่ยังแทรกแซงเงินสกุลของตนไม่ให้แข็งค่า และสะสมเงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นทุนสำรองทางการ ขณะที่ตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐยังเป็นตราสารที่นักลงทุนมองว่าปลอดภัยที่สุด ทั้งหมดนี้ได้ช่วยให้รัฐบาลสหรัฐสามารถชดเชยการขาดดุลการคลัง และเพิ่มการก่อหนี้ต่อไปได้

นี่คือโลกเศรษฐกิจปัจจุบันที่เป็นโลกใหม่ ที่ปัญหาหนี้ยังไม่มีการแก้ไข และผู้ทำนโยบายเลือกที่จะประคับประคองสถานการณ์ต่อไป บนต้นทุนของความอ่อนแอของเศรษฐกิจ และความเดือดร้อนของคนในประเทศ

ถ้าเทียบกับบริษัททั่วไป บริษัทที่มีหนี้สูงและไม่แก้ไขปัญหา คงจะอยู่ได้ยากและคงจะเติบโตไม่ได้ เศรษฐกิจก็เหมือนกัน ถ้าเศรษฐกิจมีหนี้สูง และไม่แก้ไข อนาคตเศรษฐกิจของประเทศก็มืดมน ดังนั้น ถ้าประเทศอุตสาหกรรมหลักไม่เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้คงใช้เวลาอีกนานที่จะฟื้นตัว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ห้าปีที่ผ่านมาที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตลาดการเงินและภาคธุรกิจเอกชนดูเหมือนจะยอมรับสภาพ และไม่ได้พยายามผลักดันผ่านกลไกตลาด หรือในทางสังคมให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้น ทำให้ฝ่ายการเมือง หรือผู้ทำนโยบายไม่มีแรงกดดันที่จะต้องแก้ปัญหาทันที ตรงกันข้าม ตลาดการเงินและภาคธุรกิจได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อหาประโยชน์จาก “โลกใหม่” เช่น บริษัทธุรกิจสหรัฐเสาะหาโอกาสธุรกิจโดยลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่ตลาดการเงินก็ถ่ายเทสภาพคล่องที่มีอยู่ไปลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ในรูปเงินทุนไหลเข้า ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาฟองสบู่ และวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะถ้าเงินทุนไหลเข้ามีต่อเนื่องและรุนแรง ประเด็นนี้ เป็นประเด็นสำคัญของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศในเอเชีย รวมถึงไทยในปีนี้

คำถามก็คือ ถ้าการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ยังไม่เกิดขึ้น อะไรจะเป็นปัจจัยผลักดันให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นในที่สุดทั้งในยุโรปและสหรัฐ ผมคิดว่าคงมีอย่างน้อยสองเหตุการณ์ที่จะสร้างเงื่อนไขให้นักการเมืองต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหาแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหตุการณ์แรก ก็คือ ตลาดการเงินหมดความอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และ ผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาผ่านการกดดันให้อัตราดอกเบี้ยของประเทศที่มีหนี้สูงเพิ่มสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนลง มีการลดอันดับความน่าเชื่อถือ มีเงินทุนไหลออกจนสถานการณ์กระทบความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศจนถึงขั้นวิกฤติ ถึงจุดนั้น ฝ่ายการเมืองคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดของประเทศ และรัฐบาล

เหตุการณ์ที่สอง ก็คือ ประชาชนในประเทศหมดความอดทน จากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

สิ่งเหล่านี้เป็นมุมมองเศรษฐกิจโลกที่ต้องตระหนัก ก็หวังว่า ฝ่ายการเมืองหรือผู้ทำนโยบายทั้งในยุโรปและสหรัฐจะสามารถเร่งแก้ไขปัญหาได้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ทั้งสองเหตุการณ์ที่พูดถึงเกิดขึ้น ผมคิดว่ามุมมองเศรษฐกิจโลกที่เขียนวันนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรทราบ เพื่อไม่ให้เรามองเศรษฐกิจโลกเฉพาะแค่ตัวเลขที่มีการเผยแพร่ออกมา