เงินเฟ้อกับการขึ้นดอกเบี้ย

เงินเฟ้อกับการขึ้นดอกเบี้ย

หลังจากกระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้นักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่า ธปท. อาจขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้การขึ้นดอกเบี้ยมักจะถูกคาดหวังเมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป เพราะส่วนใหญ่แล้วเงินเฟ้อมักจะเกิดจากการที่เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นฉุดให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น (demand-pull inflation) กล่าวคือ ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการซื้อสินค้ามากขึ้น ราคาสินค้าจึงปรับขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีพอใจที่จะซื้อสินค้าในราคาที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าลดลงหรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง

ในทางทฤษฎี การขึ้นดอกเบี้ยนอกจากจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อลดลงแล้ว ยังส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงด้วย ดังนั้น ในบางครั้งหากธนาคารกลางประเมินว่าเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป ก็อาจขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ โดยการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ภาระต้นทุนกู้ยืมของภาคธุรกิจสูงขึ้น ภาคธุรกิจจึงอาจตัดสินใจลงทุนน้อยลง

ในขณะที่ภาคครัวเรือนอาจมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากหนี้บัตรเครดิต ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน จึงลดการใช้จ่ายทั่วไปลง ในขณะที่ผู้ที่ตั้งใจจะซื้อรถหรือซื้อบ้านก็อาจชะลอการตัดสินใจซื้อไปก่อนเนื่องจากต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น ขณะเดียวกันภาคครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะออมมากขึ้นเนื่องจากได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น  นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยอาจดึงดูดให้มีเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่า สินค้านำเข้าต่างๆ รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตที่ต้องนำเข้าจะมีราคาถูกลง ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อลดลงเช่นกัน  ในขณะที่ภาครัฐจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมจะสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี การที่เงินเฟ้อของไทยพุ่งขึ้นในเดือนที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ แต่เกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น (cost-push inflation) เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น วัตถุดิบขาดแคลน และการอ่อนค่าของเงินบาท  นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากฐานต่ำในปีที่แล้ว เนื่องจากในปี 2564 รัฐบาลมีมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพหลายมาตรการ เช่น การลดค่าไฟฟ้าที่มากกว่าในปีนี้ การชะลอขึ้นค่าทางด่วน ฯลฯ ในขณะที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่พร้อมใจกันลดหรือตรึงราคาสินค้าและบริการ รวมถึงจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย  ดังนั้น จึงมีโอกาสที่เงินเฟ้อของไทยจะทรงตัวในระดับสูงต่อไปจากผลของฐานต่ำและราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง

เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ถึงแม้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง แต่การขึ้นดอกเบี้ยไม่น่าจะใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยอาจแทบไม่ส่งผลต่อต้นทุนซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ กล่าวคือ การขึ้นดอกเบี้ยจะไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงและราคาวัตถุดิบนำเข้าลดลง ส่วนค่าเงินบาทอาจแข็งค่าจากการขึ้นดอกเบี้ยเพียงไม่กี่วันเท่านั้น เนื่องจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีอิทธิพลต่อค่าเงินบาทมากกว่าที่เงินบาทมีอิทธิพลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยถึงแม้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่การบริโภคยังคงอ่อนแอ และการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น (แตกต่างกับทางสหรัฐที่ถึงแม้เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงมาแล้วหลายเดือน แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง) รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ในขณะที่รัฐบาลยังคงมีแนวโน้มที่จะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น มาตรการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น  ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวถึงแม้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ยังคงอยู่ห่างไกลจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 จึงจำเป็นที่นโยบายของภาครัฐจะต้องช่วยหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาเติบโตได้ดี นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนจำนวนมาก เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง

ดังนั้น เมื่อมองด้วยเหตุและผลแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยของไทยจึงไม่น่าเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ (ในขณะที่เขียนบทความ ผู้เขียนยังไม่ทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.) ซึ่งมีอีกหลายประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่น ที่ธนาคารกลางระบุชัดเจนว่าถึงแม้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ธนาคารกลางยังไม่มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ย  

โดยในส่วนของไทยอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง หรือกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจจะเริ่มชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้หลังผลของฐานต่ำเริ่มลดลง  สำหรับในปีหน้าอัตราเงินเฟ้ออาจลดลงสู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท. หรือในกรณีที่สงครามในยูเครนยุติ ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงต่ำกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าก็อาจอยู่ต่ำกว่า 0% จากผลของฐานสูง

ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีแรงกดดันให้ ธปท. ต้องขึ้นดอกเบี้ย  อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยของไทยจึงจำเป็นต้องขยับขึ้นสู่ภาวะปกติในอนาคต โดยหากเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากพอและมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ธนาคารกลางอาจใช้โอกาสในช่วงปลายปีนี้ปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะร่วงลงในปีหน้าก็เป็นได้