ทำอย่างไรดีเมื่อกองทุนตราสารหนี้ติดลบ

ทำอย่างไรดีเมื่อกองทุนตราสารหนี้ติดลบ

แนวโน้มขาขึ้นของดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดการเงิน โดยการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

อัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นการปรับขึ้นที่รวดเร็วมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ด้วยแม้จะอยู่ในวัฏจักรของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็วทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนติดลบทั้งในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน

เราลองมาดูข้อมูลกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ในไทย (ข้อมูล ณ สิ้น มี.ค. 65 จาก AIMC) หากวัดกันที่ 25th Percentile หรือผลตอบแทนลำดับที่ 25 จาก 100 จะเห็นได้ว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผลตอบแทนปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับกองทุนตราสารหนี้ในประเทศในส่วนของระยะสั้นและระยะกลาง โดยให้ผลตอบแทนที่แทบจะเรียกได้ว่าน้อยกว่าเงินฝากในช่วง 0.07% ถึง 0.18% ในช่วงไตรมาสแรก

ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว และตราสารหนี้ในประเทศในกลุ่มต่างๆ ติดลบค่อนข้างมากในช่วง -2.9% ถึง -3.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนภาพรวมที่ดูเหมือนว่าตราสารหนี้จะทำได้ไม่ดีนักในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และโดยเฉพาะในปัจจุบันที่น่าจะขึ้นเร็วที่สุดครั้งหนึ่ง และอาจมีส่วนของความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งให้เกิดแรงขายในกลุ่มตราสารหนี้ออกมา

ทำอย่างไรดีเมื่อกองทุนตราสารหนี้ติดลบ

ที่มาAIMC

ผลตอบแทนของกองทุนรวมจะถูกกำหนดด้วยสองปัจจัยหลัก ได้แก่ นโยบายการลงทุนและการเลือกตราสารของผู้จัดการกองทุนที่สอดคล้องกับกรอบการลงทุน โดยทั่วไป เรื่องของนโยบายการลงทุนจะมีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งในปัจจุบันจากภาพรวมของเศรษฐกิจและการเงินที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนในตราสารหนี้ ก็ทำให้ผลตอบแทนติดลบอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้อาจจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนจากผู้จัดการกองทุนบ้าง แต่ก็ยังสามารถทำได้จำกัดในภาวะที่ตลาดการเงินค่อนข้างมีความไม่แน่นอนสูงดังเช่นในปัจจุบัน

การติดลบของการลงทุนในตราสารหนี้ มักจะเกิดในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น โดยเมื่อดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับตัวสูงขึ้น ก็จะทำให้ราคาของตราสารหนี้ปรับตัวลดลง โดยหากพิจารณาตราสารหนี้ส่วนใหญ่ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่ เมื่อดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นก็จะทำให้ตราสารเหล่านั้นให้ดอกเบี้ยสู้ตราสารที่ออกใหม่ไม่ได้ ทำให้ราคาปรับตัวลดลง จนกว่าผลตอบแทนรวม (ทั้งเรื่องของราคาและดอกเบี้ย) ที่นักลงทุนตราสารหนี้น่าจะรู้จักกันดีที่เรียกว่า “Yield-to-Maturity” ใกล้เคียงกับตราสารใหม่ๆ โดยยิ่งเมื่อตราสารหนี้อายุคงเหลือหลายปี ก็จะมีผลกระทบด้านราคามากกว่าตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือน้อยกว่า

ถ้าอย่างนั้น .. คำถามสำคัญคือ จะติดลบเพิ่มขึ้นอีกไหม และจะติดลบไปอีกนานไหม

จะติดลบเพิ่มขึ้นอีกไหมต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งการคาดการณ์ในปัจจุบันก็มีการสะท้อนแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตไว้ค่อนข้างมากแล้ว โดยปัจจัยที่จะสามารถทำให้มีการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในอนาคตก็หนีไม่พ้นเรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยหากเงินเฟ้อยังเร่งตัวสูงขึ้นและไม่มีทีท่าจะชะลอตัวลงง่ายๆ ก็จะส่งผลต่อแรงกดดันของการดำเนินนโยบายการเงินได้

โดยเงินเฟ้อในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปสงค์จากการตึงตัวของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี รวมถึงการคาดการเงินเฟ้อในอนาคต (Inflation Expectation) ของครัวเรือนและภาคแรงงาน เสริมด้วยประเด็นด้านอุปทานไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาพลังงานหรือปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานต่างๆ

ส่วนจะติดลบอีกนานไหม หากดอกเบี้ยปรับตัวลดลงบ้าง ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น หากเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว หรือเงินเฟ้อดูท่าที่ควบคุมได้และค่อยๆ ปรับตัวลดลง ก็จะทำให้ราคาของตราสารหนี้ต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น หรือหากดอกเบี้ยยังคงทรงตัวและไม่เพิ่มมากไปกว่าระดับในปัจจุบันมาก ราคาของตราสารหนี้ก็จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากอายุของตราสารที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ราคาของตราสารหนี้ค่อยๆ ปรับตัวเข้าหาราคาหน้าตั๋ว (Face Value) โดยอัตโนมัติ และรวมกับดอกเบี้ยที่จะได้รับระหว่างทางด้วย

ดังนั้นนักทุนอาจจะไม่ต้องตื่นตระหนกหากเปิดพอร์ตการลงทุนดูแล้วพบกว่ากองทุนตราสารหนี้นั้นให้ผลตอบแทนติดลบ แต่อาจต้องค่อยๆ พิจารณแนวโน้มปัจจัยต่างๆ อย่างครบถ้วนก่อนตัดสินใจใดๆ จะติดลบเพิ่มขึ้นหรือดีขึ้นบ้างคงต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มและมุมมองต่างๆ ต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด