FED ขึ้นดอกเบี้ยแรง ยังซื้อหุ้นได้ไหม

FED ขึ้นดอกเบี้ยแรง ยังซื้อหุ้นได้ไหม

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการล็อกดาวน์เมืองสำคัญๆ ของจีน ทำให้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อซับซ้อนขึ้น ในเวลาเพียง 4 เดือน การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และธนาคารกลางสำคัญๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่มองว่า ปี 2022 จะยังเป็นปีที่มีโมเมนตัมให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด และเงินเฟ้อจะค่อยๆ ลดลง มาถึงตอนนี้ ภาวะเงินเฟ้อทำท่าจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คิด ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจกลับแผ่วลง

เป้าหมายของธนาคารกลางส่วนใหญ่รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED คือ การดูแลให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานรวมกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เรื้อรังกลับผลักให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งขึ้นในระดับที่ไม่เคยเจอมากว่า 40 ปี กดดันให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเดินหน้าเข้มงวดนโยบายการเงิน โดยเฉพาะ FED ที่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งล่าสุด ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดตั้งแต่ปี 2000 พร้อมทั้งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุม 2 ครั้ง ข้างหน้า

 

FED ขึ้นดอกเบี้ยแรง กระทบราคาสินทรัพย์อะไรบ้าง

สินทรัพย์แรกที่กระทบโดยตรงคือตราสารหนี้ ที่ราคาลดลงจากผลของบอนด์ยีลด์ที่เพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้นักลงทุนทั้งในพันธบัตรและหุ้นกู้ขาดทุน

แม้ FED จะให้สัญญาณชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่บางประเทศกลับดำเนินนโยบายการเงินที่ต่างกัน ทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปคนละทาง ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศที่ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น ญี่ปุ่น ที่ล่าสุดธนาคารกลางมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี ทะลุระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ราคาก็ลดลงแรงเช่นกัน โดยหุ้นโลก (MSCI All Country World Index) ลดลงกว่า -10% นับจากต้นปี (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤษภาคม) แม้ในสภาวะตลาดหุ้นเช่นนี้ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง การถือหรือทยอยสะสมหุ้นไว้ในพอร์ตยังคงเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ เพราะ

  1. ตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของ FED ไปมากแล้ว โดยล่าสุดตลาดประเมินดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะไปอยู่ที่ 2.75% ภายในสิ้นปีนี้ (สะท้อนจาก FED Fund Futures) ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่ FED สื่อสารไว้ที่ 2.50%
  2. ปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นยังดี จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ กำไรบริษัทจดทะเบียนของตลาดหุ้นโลก (อ้างอิงดัชนี MSCI All Country World Index) จะเติบโตได้ราว +11% และ +8% สำหรับปี 2022 และ 2023 ด้าน Valuation ถือว่ายังน่าสนใจ ณ ราคาปัจจุบัน ตลาดหุ้นโลกซื้อขายที่ P/E 12 เดือนล่วงหน้าราว 15 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี

ความเสี่ยงที่สำคัญจากนี้คือสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าอัตราการเติบโตจะชะลอลงกว่าที่เคยคาดไว้ แต่ ณ ตอนนี้ ยังนับว่ามีโอกาสน้อย โดย IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตได้ +3.6% แม้แต่ในยูโรโซนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน GDP ไตรมาส 1 ยังคงเติบโตได้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ฝั่งสหรัฐฯ แม้ FED จะขึ้นดอกเบี้ยแรง นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังมองว่าจะไม่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ FED จะจัดการให้เศรษฐกิจค่อยๆ ชะลอลง หรือ Soft landing ได้

ในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังเผชิญกับหลากหลายความท้าทาย แม้ราคาหุ้นจะถูกลง แต่การเลือกหุ้นมาลงทุนก็สำคัญ นอกจากจะต้องมั่นใจว่ารับความเสี่ยงและสามารถลงทุนระยะยาวได้แล้ว การดูข้อมูลเพียงรายอุตสาหกรรมหรือรายประเทศยังไม่พอ ต้องเจาะลึกถึงปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงหุ้นของบริษัทที่ฐานะการเงินอ่อนแอหรือยังไม่มีกำไร แต่เน้นไปที่หุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพและสามารถเติบโตได้ (Quality Growth)ช่น ฐานะการเงินแข็งแรง รายได้และกำไรเติบโตสม่ำเสมอ เป็นผู้นำหรือมีกลยุทธ์การตลาดโดดเด่น และราคาสมเหตุสมผล

หัวใจสำคัญที่สุดคือ เลือกลงทุนในบริษัทที่มีอำนาจในการกำหนดราคา (Pricing Power) เพราะดอกเบี้ยสูงและเงินเฟ้อสูงนั้น หมายความถึง ต้นทุนสินค้าและต้นทุนการเงินย่อมสูงขึ้นตาม หากบริษัทสามารถขยับราคาสินค้าขึ้น โดยรักษายอดขายที่ดีไว้ได้ ก็จะรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ ซึ่งการลงทุนในหุ้นคุณภาพนี้ ถือเป็นขุมทรัพย์ลงทุนชิ้นสำคัญท่ามกลางกระแสการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก