ระเบียบโลกเก่ากำลังจะล่มสลาย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ตั้งแต่เด็ก ผู้เขียนเชื่อว่ากระแสโลกาภิวัตน์ในภาพใหญ่เป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของประชาคมโลก จึงรู้สึกผิดหวังเมื่อเห็นพัฒนาการของโลกในช่วงหลังลดทอนกระแสดังกล่าว

ไม่ว่าจะเป็น 1.การใช้มาตรการคว่ำบาตร (Sanction) ที่ปัจจุบันมีมากกว่าในช่วงทศวรรษ 1990 ถึงกว่าสี่เท่า โดยล่าสุดทางการสหรัฐกำหนดบทลงโทษ (Secondary sanction) ให้กับบริษัทที่ทำการค้ากับกองทัพของรัสเซีย

2.การแข่งขันด้านการอุดหนุนอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม (Subsidy) มีมากขึ้น หลังจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ พยายามเลียนแบบการสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของจีนและสหรัฐ และ

3.ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน มูลค่ารวม 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ขึ้นถึง 4 เท่าไปสู่ 100%

แม้ว่าในภาพใหญ่เศรษฐกิจโลกดูฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับการลดลงของกระแสโลกาภิวัตน์โลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งแม้สงครามการค้ากับจีนทวีความรุนแรงขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีก็สามารถทนต่อการคว่ำบาตรการส่งออกก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ขณะที่สงครามในตะวันออกกลางไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันกระชากขึ้น ส่วนกบฏฮูตีที่ยิงขีปนาวุธใส่เรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ก็ไม่สามารถส่งผลกระทบกับการค้าโลก

แต่หากมองลึกลงไปแล้วจะเห็นความเปราะบาง เพราะนอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ด้านองค์กรเหนือรัฐที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรักษากฎระเบียบโลกก็กำลังสูญเสียความน่าเชื่อถืออย่างรวดเร็ว

เช่น องค์การการค้าโลกที่ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ ในการตัดสินข้อพิพาททางการค้าได้มากว่า 5 ปี เนื่องจากสหรัฐไม่ส่งผู้แทนของตน IMF ต้องเผชิญกับวิกฤติด้านจุดยืน

โดยต้องเลือกระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน หรือผลักดันวาระสีเขียว (Green agenda) และหน่วยงานด้านความมั่นคงโลก เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่มีอำนาจในเชิงปฏิบัติที่จะสั่งการระงับความรุนแรงในโลก

ในประเด็นสงครามการค้านั้น ผู้เขียนมองว่า มาตรการของประธานาธิบดีไบเดนที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน แม้จะเป็นการหวังผลทางการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งเป็นหลัก แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดการตอบโต้ (escalation) ในอนาคต โดยปัจจุบัน ผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออาจไม่มากนัก

เนื่องจากวงเงินของสินค้าที่จะขึ้นภาษีอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มสินค้าที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นกำแพงภาษีในช่วงปี 2018-2020

และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน ที่มีมูลค่ารวม 2.3 แสนล้านดอลลาร์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าสินค้าจีนมายังสหรัฐที่ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์

สินค้าที่รัฐบาลไบเดนวางแผนจะเก็บภาษีส่วนใหญ่เป็นสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ เช่น รถ EV แบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ ต่างจากทรัมป์ที่กล่าวในการหาเสียงว่าพร้อมจะขึ้นภาษีกับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าจากจีนเป็น 60% หากได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นประธานาธิบดี

หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว พบว่าน่าสนใจ เพราะสินค้าที่ไบเดนเตรียมจะเก็บภาษีจากจีนนั้น เป็นสินค้า 3 ชนิดที่จะเป็นแชมเปี้ยนยุคใหม่ของจีนต่อไป ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ และลิเธียมไอออนแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกสำหรับจีนแทนที่ 3 แชมเปี้ยนเก่า ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้านและเสื้อผ้า

แต่มาตรการดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของ GDP ของจีนในปีนี้ เนื่องจากแม้ว่าจีนได้กลายเป็นผู้ผลิตที่สำคัญที่สุดของผลิตภัณฑ์เหล่านี้

แต่การผลิตโดยรวมส่วนใหญ่เป็นเพื่อการบริโภคภายในประเทศ โดยการส่งออก 3 แชมเปี้ยนใหม่นี้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.5% ของการส่งออกของจีนโดยรวม และการส่งออกไปยังสหรัฐ คิดเป็น 0.4% ของการส่งออกโดยรวมของจีนเท่านั้น

หากเปรียบเทียบแล้ว ยุโรปเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกสินค้า 3 ชนิดนี้ของจีน โดยคิดเป็นประมาณ 45% ของการส่งออกสินค้า 3 ชนิดนี้ทั้งหมดจากประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย. และจัดเก็บภาษี 60% สำหรับการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศจีนจริงตามที่หาเสียงไว้ อาจกระทบต่อการเติบโตของ GDP ของจีน รวมถึงสหรัฐและโลกอย่างชัดเจน สำนักวิจัย Goldman Sachs วิเคราะห์ว่า จะทำให้ GDP ของจีนชะลอประมาณ 2.0%

เมื่อเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐ จีนจะแก้ลำด้วยการลดค่าเงินหยวนเพื่อให้รายได้การส่งออกรูปเงินหยวนมีมากขึ้น โดยในช่วงที่เกิดสงครามการค้าปี 2018-2020 นั้น จีนลดค่าเงินหยวนจาก 6.3 สู่ 7.0 หยวนต่อดอลลลาร์ หรือประมาณ 11%

ดังนั้น หากทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 60% เป็นไปได้ที่จีนจะลดค่าเงินหยวนอีกประมาณ 10% สู่ 8 หยวนต่อดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ 7.23 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้เงินสกุลเอเชียรวมถึงเงินบาทอ่อนค่าตาม และอาจนำไปสู่สงครามค่าเงินได้

นอกจากนั้น ในภาพใหญ่ การทำสงครามการค้าเช่นนี้จะนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้า (retaliation) จากจีน รวมถึงนำไปสู่การเบี่ยงเบนทางการค้า (trade diversion) ที่อาจมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ในภาพรวมแล้ว ผลกระทบจะมีมากกว่าการค้าเสรีอย่างแน่นอน

หากพิจารณาในปัจจุบันที่กระแสการค้าเสรีลดลงนั้น จะเห็นได้ว่าการค้าระหว่างประเทศของโลกทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 30% ต่อ GDP ตั้งแต่ปี 2010 ขณะที่เงินลงทุนระหว่างประเทศลดลงจาก 10% ต่อ GDP ในปี 2000 มาอยู่ที่ 2% ในปัจจุบัน หลังจากสหรัฐมีการสนับสนุนนโยบายโยกเงินลงทุนจากจีนกลับมาในประเทศ (Reshoring) หรือพันธมิตร (Friendshoring)

สถานการณ์เหล่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจสังคมโลกมีความเสี่ยง และหากระเบียบโลกในปัจจุบันถูกทำลายลงแล้ว เศรษฐกิจการเมืองโลกจะไปสู่สภาวะอนาธิปไตยที่เน้นอำนาจและความรุนแรง และทำให้ประชาคมโลกรับมือกับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ได้ยากขึ้น

การแก้ปัญหาในระยะต่อไปจะใช้มาตการรวมกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกันเป็นหลัก ซึ่งจะนำไปสู่มาตรการบีบบังคับและความไม่พอใจ เช่น การใช้มาตรการภาษีนำเข้าคาร์บอนของยุโรป

(CBAM เป็นการปรับราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า และปุ๋ย ก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU)

เมื่อระเบียบเดิมของโลกกำลังถูกท้าทาย โลกใหม่ก็จะแตกเป็นขั้วมากขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งด้านการค้า การเงิน การลงทุน เทคโนโลยีและความมั่นคง ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสงคราม อย่างไม่ต้องสงสัย

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่สังกัด