ประธานาธิบดีปูตินวาระ 5 หมายตาสร้างระเบียบโลกใหม่

ประธานาธิบดีปูตินวาระ 5   หมายตาสร้างระเบียบโลกใหม่

รัสเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 15 มี.ค. ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มั่นใจอย่างมากว่าเขาต้องได้รับเลือกตั้งกลับมาใหม่

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นับตั้งแต่อดีตสายลับเคจีบีที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักผู้นี้ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.1999 เขาสร้างความแข็งแกร่งด้วยการดึงมหาเศรษฐีมีอำนาจมาเป็นพวก ปิดปากฝ่ายค้าน แล้วเปลี่ยนรัสเซียให้เป็นรัฐอำนาจนิยม

นักวิจารณ์ฝีปากกล้าผู้โด่งดังที่สุด “อเล็กซี นาวัลนี” เสียชีวิตปริศนาในเรือนจำอาร์กติกเมื่อเดือนก่อน ส่วนฝ่ายค้านคนอื่นๆ ถ้าไม่ติดคุกยาวก็หนีไปต่างประเทศ

ด้านเวทีการเมืองโลก ปูติน วัย 71 ปี เป็นหัวหอกท้าทายการครอบงำของชาติตะวันตกเขารวบอำนาจมากขึ้นหลังรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ.2565 ใครต่อต้านสงครามอย่างเปิดเผยมีแต่จะโดนคดีและติดคุก

สงครามในยูเครนเป็นตัวกำหนดการปกครองของปูติน สงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน รัสเซียถูกตะวันตกคว่ำบาตรอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างความยากลำบากให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

จริงๆ แล้วในชั่วโมงแรกๆ ที่ปูตินสั่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 มีการประท้วงขนาดใหญ่ต้านสงคราม แต่ถูกจัดการลงได้อย่างรวดเร็ว

แต่หลายเดือนหลังจากนั้นมีการประท้วงอีก เมื่อรัฐบาลประกาศเกณฑ์ทหารบางส่วน เนื่องจากรัสเซียไม่สามารถโค่นรัฐบาลยูเครนได้

ความท้าทายรุนแรงที่สุดที่ปูตินเคยเจอตลอดการปกครองอันยาวนานเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.2566 เมื่อเยฟเกนี พริโกชิน เพื่อนสนิทยาวนานหัวหน้ากลุ่มนักรบรับจ้างแวกเนอร์ ประกาศก่อกบฏเพื่อโค่นผู้นำกองทัพรัสเซีย การลุกฮือนองเลือดใดๆ หากเกิดขึ้นจริงย่อมทำลายภาพลักษณ์ที่ปูตินสร้างขึ้นมาว่า เขาคืออัจฉริยะด้านยุทธศาสตร์ พอๆ กับพระเจ้าปีเตอร์มหาราช จักรพรรดินักปฏิรูปผู้ขยายดินแดนรัสเซีย

แต่ปูตินได้แสดงให้เห็นแล้วว่ายังคงอยู่ในอำนาจหลังเกิดกบฏแวกเนอร์ ฝ่ายต่อต้านในประเทศส่วนใหญ่เงียบเสียง เศรษฐกิจกำลังเติบโตอีกครั้ง กองทัพรัสเซียได้พื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน ปูตินจึงเดินทางไปต่างประเทศจากที่หยุดไปนาน

นักการเมืองหัวปฏิรูป

ปูตินเคยเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองมาก่อน อาชีพการเมืองเริ่มต้นที่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก บ้านเกิด ในปี 1991 หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

บอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย แต่งตั้งเขาให้เป็นผู้อำนวยการหน่วยความมั่นคง FSB ในปี 1998 และเป็นนายกรัฐมนตรีในปีรุ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่วางแผนมาอย่างดี ถึงจุดสุดยอดเมื่อปูตินได้รับการเสนอชื่อเป็นรักษาการประธานาธิบดีหลังประธานาธิบดีเยลต์ซินลาออก

ปูตินชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในเดือน มี.ค.2000 สมัยที่ 2 ในปี 2004 ความรุ่งเรืองของเขาจุดประกายความหวังถึงการปฏิรูปรัสเซียให้เป็นพันธมิตรประชาธิปไตยที่คาดการณ์ได้ของชาติตะวันตกบนเวทีโลก

ปูตินได้รับความนิยมจากการให้คำมั่นว่าจะทำให้ประเทศมีเสถียรภาพพ้นจากการถูกดูหมิ่นและเศรษฐกิจโกลาหลมานับสิบปีหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

ม่านเหล็กใหม่

รัฐธรรมนูญรัสเซียไม่ให้เป็นประธานาธิบดีเกินสองสมัยติดต่อกัน ปูตินจึงต้องกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2008 แต่ยังกุมอำนาจในมือไว้อย่างเหนียวแน่น และกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2012 ท่ามกลางการประท้วงในกรุงมอสโก ต่อมาชนะเลือกตั้งสมัยที่4 ในปี 2018

เขาสั่งจำคุก นาวัลนี คู่อริฝีปากกล้าที่สุด ในปี 2021 นาวัลนีติดคุกนานสามปีจนกระทั่งเสียชีวิตอย่างชวนสงสัยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งนับตั้งแต่รุกรานยูเครน ผู้นำรัสเซียก็ปราบปรามขบวนการต่อต้านหนักข้อขึ้น โดยนำกฎหมายเซ็นเซอร์กลับมาใช้อีกครั้งสั่งจำคุกชาวรัสเซียหลายพันคน

ชาติตะวันตกคว่ำบาตรไม่ให้รัสเซียเข้าถึงระบบธนาคารโลก ยิ่งปิดล้อมผู้นำรัสเซียไปโดยปริยาย

เดือน ต.ค.2023 ปูตินกล่าวหายุโรปกำลังสร้าง “ม่านเหล็กใหม่” ขณะที่รัสเซียกำลังสร้าง “โลกใหม่” ที่ชาติตะวันตกไม่ได้ครองความเป็นเจ้า พร้อมกันนั้นเขาได้ผลักดันวาระชาตินิยมและสังคมอนุรักษนิยมในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQ

นับวันยิ่งมั่นใจ

การเป็นผู้ไม่เป็นที่ปรารถนาทางการทูตในหมู่ผู้นำตะวันตกผลจากการรุกรานยูเครนทำให้บุรุษเหล็กแห่งรัสเซียรายนี้พยายามหันไปหาโลกตะวันออก ดึงดูดอินเดียและจีนด้วยการเพิ่มการส่งออกพลังงาน

เศรษฐกิจรัสเซียที่เคยหดตัวในปี 2022 เริ่มเติบโตอีกครั้งในปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เงินเฟ้อสูง เงินรูเบิลอ่อนค่า และงบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สงครามยูเครนล้มเหลวในเป้าหมายแรก ความต้องการโค่นล้มรัฐบาลเคียฟไม่สำเร็จ รัสเซียเจอแรงต้านเด็ดเดี่ยวจากกองทัพยูเครนที่เล็กกว่าจนต้องอับอายหลายครั้ง แต่เมื่อความขัดแย้งยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 3 ปูตินเริ่มมั่นใจมากขึ้นถึงโอกาสของรัสเซียในสนามรบ จากที่หลีกเลี่ยงไม่อยากพูดถึงมานานหลายเดือน

กองทัพรัสเซียต้านทานการรุกรบเอาคืนจากยูเครนได้สำเร็จ จึงเกิดความสงสัยมากขึ้นทุกขณะว่ารัฐบาลเคียฟจะรักษาแนวรบไว้ได้หรือไม่ ในเมื่ออาวุธยุทโธปกรณ์จากชาติตะวันตกส่งมาล่าช้า

ความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ถูกยื้อไปมาในกรุงวอชิงตัน จนรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนต้องส่งเสียงเตือนหลายครั้ง

เดือน ก.พ. กองทัพรัสเซียยึดเมืองแอฟดิฟกา อดีตฐานที่มั่นของยูเครนไว้ได้ถือเป็นการได้ดินแดนครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบปีกว่าของการต่อสู้ชิงเมือง

เกือบสองสัปดาห์ต่อมา ปูตินแถลงนโยบายประจำปีด้วยน้ำเสียงท้าทาย  ประกาศลั่นทหารรัสเซียจะสู้จนถึงที่สุด

“พวกเขาไม่มีวันถอย ไม่ล้มเหลว และจะไม่ทรยศ” ผู้นำเครมลินกล่าวอย่างมั่นใจ