มุมมองแนวโน้มหนี้ครัวเรือน ปี 2566

มุมมองแนวโน้มหนี้ครัวเรือน ปี 2566

หนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัญหาสำหรับระบบเศรษฐกิจไทยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้ในปี 2565 ที่ผ่านมาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีทิศทางดีขึ้น โดยปรับลดลงจากระดับสูงสุด 90% ในปี 2564 จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง

แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่าระดับความยั่งยืนที่ 80% สำหรับในปี 2566 นี้ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่การฟื้นตัวยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ขณะที่เงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นแม้เป็นอัตราที่ชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยยังคงเป็นขาขึ้น สถานการณ์ทิศทางหนี้ครัวเรือนในปีนี้จะเป็นไปอย่างไรเป็นเรื่องที่ยังคงต้องติดตาม

สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมา หนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2564 ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายประเภทสะสมทุน เช่น การซื้อบ้าน/ที่ดิน และเงินออม เป็นต้น)

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ารายได้ คือรายได้เพิ่มจาก 23,236 บาทในปี 2554 เป็น 27,352 บาท ในปี 2564 และค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 17,403 บาท เป็น 21,616 บาท ตามลำดับ ขณะที่หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนในปี 2564 อยู่ที่ 205,679 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค (37.9%) รองลงมาคือเพื่อใช้ในการเช่า/ซื้อบ้าน หรือที่ดิน (36.3%)

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อเปรียบเทียบหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2564 พบว่าหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนในปี 2564 เพิ่มสูงเป็น 7.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2554 และ 2558 อยู่ที่ 5.8 เท่า  นอกจากนี้ ในเชิงปริมาณพบว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 55.8 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 45.2 ในปี 2562 แต่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 51 ในปี 2564 ที่เกิดวิกฤตโรคโควิด-19

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 59% ในปี 2553 เป็น 90% ในช่วงปี 2564 จากการวิเคราะห์สถานภาพหนี้เป็นรายครัวเรือนแล้ว ลองมาดูภาพรวมสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือนทั้งระบบโดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบ่งได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

1) ช่วงเติบโตในอัตราเร่ง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 59.3% ในปี 2553 แตะระดับสูงกว่า 80% ในปี 2557-2558  ซึ่งเป็นช่วงสินเชื่อเติบโตเร็วเฉลี่ย 6-7% ต่อปีจากภาวะวิกฤตน้ำท่วม

2) ช่วงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีทรงตัวอยู่ในระดับ 78-79% ในช่วงปี 2559-2562 จากเศรษฐกิจและสินเชื่อโตต่อเนื่อง

3) ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถึงปัจจุบัน  โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 89.7% ในปี 2563 แตะสูงสุดที่ 90.1% ในปี 2564 เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวถึง 6.2% ในปี 2563 ขณะที่เงินให้กู้ยืมหรือสินเชื่อภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าในปี 2564 เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นขยายตัวที่ 1.5% แต่การเพิ่มขึ้นของจีดีพีในปี 2564 ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าการหดตัวในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 มีส่วนส่งผลให้สัดส่วนคนไทยมีหนี้เพิ่มสูงจาก 31% เป็น 37% หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย  

สำหรับในปี 2565 กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติได้เร็ว ทำให้สินเชื่อภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 อยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 86.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 14.76 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88.1% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ การที่สัดส่วนปรับลดลงจากไตรมาสก่อนมาเป็น 88.1% น่าจะมีสาเหตุจากสินเชื่อที่เติบโตช้าลงและจีดีพีในรูปแบบตัวเงินที่เพิ่มขึ้นเพราะราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น หรืออีกนัยคือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ในภาพรวมครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูง 

ณ สิ้นปี 2565 ประเมินสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวที่ 3.8% ชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2564 ขณะที่จีดีพีเติบโต 2.6% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 87.2% ต่อจีดีพี ซึ่งแม้จะลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 18 ปี อยู่ที่ 90.1% ต่อจีดีพี ในปี 2564 แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับยั่งยืนที่ 80% ตามมาตรฐานของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ซึ่งหากยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อไปอาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยสูงเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และสูงกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Economies) เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย

หากมองโครงสร้างสินเชื่อภาคครัวเรือน อาจแบ่งได้เป็น 1) สินเชื่อที่มีหลักประกัน หรือ Secured Loans  (สัดส่วน 47%) ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์  และสินเชื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ 2) สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือ Unsecured  Loans (สัดส่วน 35%) ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น และ 3) สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ (สัดส่วน 18%)  

โดย ณ ไตรมาส 3 ปี 2565  ภาพรวมสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 4% และสินเชื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์เติบโตลดลง  ขณะที่หมวดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวสูงถึง 17% สะท้อนการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ แม้มูลค่าหนี้บ้านหรือสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งถูกมองเป็นหนี้ที่สามารถสร้างรายได้หรือสร้างความมั่นคงได้จะมีสัดส่วนสูงสุดก็ตาม แต่หากเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีใกล้เคียงกับไทย อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ แคนาดา พบว่า สัดส่วนหนี้บ้านจะสูงกว่า 60% โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรสูงถึง 91% 

สำหรับในปี 2566 คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองจากระดับสูงสุดในปี 2564 มาที่ระดับ 86.9% เมื่อพิจารณาจากมูลค่าจีดีพีที่จะเติบโตตามทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มสินเชื่อครัวเรือนที่จะโตลดลง โดยในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้แรงส่งเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปี 2565 จะต่ำกว่าคาด แต่เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.6% จาก 2.6% ในปี 2565 ด้วยแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจกดดันการส่งออกไทยให้อยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่เงินให้กู้ยืมภาคครัวเรือนหรือสินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงที่ 3.3% จากการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2-2.5% ณ สิ้นปี 2566 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 86.9%   

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง และสินเชื่อภาคครัวเรือนเติบโตในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งโครงสร้างสินเชื่อภาคครัวเรือนประกอบด้วยสัดส่วนหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือหนี้ที่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือทำให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นในอนาคต ไม่เพียงแต่เป็นหนี้การอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป คาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยเป็นไปในทิศทางดีขึ้น สะท้อนด้วยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ