แนวโน้มปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเกินดุล …ลดแรงกดดันเงินบาทอ่อนค่า

แนวโน้มปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเกินดุล …ลดแรงกดดันเงินบาทอ่อนค่า

เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา มีการพูดถึงเกี่ยวกับ “ค่าเงินบาทอ่อนค่า” กันมาก โดยมีการปรับตัวอ่อนค่าถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นการทุบสถิติในรอบ 16 ปี โดยอ่อนค่า 12% เมื่อเทียบกับต้นปี 2565

หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% และส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแตะระดับ 4.40% ในปีนี้  และอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 5.00% ในปี 2566 ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ 2%  อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นการอ่อนค่าที่สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค

โดยเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์และไต้หวัน สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2565 และในปี 2566 จะมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องไปมากกว่านี้หรือไม่ ปัจจัยใดมีส่วนช่วยพยุงการอ่อนค่าของเงินบาท เป็นประเด็นสร้างความกังวลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำเข้า กลุ่มผู้ผลิตที่ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

ในมุมของปัจจัยพื้นฐาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นปัจจัยหลักสะท้อนทิศทางค่าเงินบาทในระยะกลางและระยะยาว โดยเมื่อใดก็ตามที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล นั่นหมายถึงมีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าและบริการให้กับต่างประเทศ มากกว่ารายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือเรียกว่าเป็นภาวะดุลการค้าเกินดุลและดุลบริการเกินดุล

เมื่อเป็นเช่นนั้นเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ (ในกรณีนี้คือเงินดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ สำหรับโครงสร้างดุลบัญชีเดินสะพัดไทย หากดูตัวเลขย้อนหลังจะเห็นได้ว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเกินดุล ส่วนหนึ่งมาจากการเกินดุลการค้า

โดยเฉพาะในช่วงปี 2557-2561 ที่สูงถึง 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเกิดจากการส่งออกสินค้าประเภทปิโตรเคมี รถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ที่มีบทบาทโดดเด่นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19) คือการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดุลบริการ ซึ่งเดิมที่เคยขาดดุลประมาณปีละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเกินดุล 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในระดับเกือบ 40 ล้านคน

สำหรับในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ตัวเลขบัญชีเดินสะพัดเปลี่ยนทิศทางมาเป็นขาดดุลที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งองค์ประกอบที่ฉุดรั้งอย่างหนัก คือดุลบริการที่ขาดดุลถึง 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ขณะที่ดุลการค้ายังคงเกิดดุลจากการส่งออกโดยเติบโตถึง 20%

สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสะสมต่อเนื่องที่ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแรงฉุดหลักๆ ยังคงเป็นดุลบริการที่ขาดดุล 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวจากการยกเลิก Thailand Pass และพบว่าดุลการค้าสะสมที่เป็นปัจจัยหลักหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดนั้น มีทิศทางเกินดุลน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2564 (มองในมุมของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้ข้อมูลการนำเข้าเป็น FOB)

และเมื่อพิจารณารายละเอียดที่มาของดุลการค้าที่เกินดุลลดลง พบว่าเป็นส่วนของการนำเข้าเพิ่มขึ้น อันเป็นผลของราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของดุลบริการ พบว่าค่าระวางสินค้านำเข้ามีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2564 อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 14% ของมูลค่านำเข้าปี 2564 ขณะที่ปี 2563 คิดเป็นเพียง 9% ของมูลค่านำเข้า และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ค่าระวางสินค้ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

คาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเกินดุลในปี 2566 ช่วยพยุงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าลงมาก เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ โดยในปี 2566 หากราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล  ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอย่างน้อย 15 ล้านคน จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาสู่สมดุล

  ทั้งนี้ จากการคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 มีความเป็นไปได้อยู่ที่ระดับ 18.5 ล้านคนจากราว 9.5 ล้านคนในปีนี้  ก็จะทำให้เห็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยได้ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยพยุงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ามาก ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มีแนวโน้มดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566