เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกับผลกระทบบนตลาดการเงินโลก

เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกับผลกระทบบนตลาดการเงินโลก

ในช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเรื่องของเศรษฐกิจจีนจะเริ่มกลับมาสร้างความกังวลให้กับตลาดการเงินอีกครั้ง หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจชุดล่าสุด ในเดือน ก.ค. ส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ในภาพรวมนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จากการรวบรวมของ Bloomberg (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค. 65) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้เพียง 3.7% ในปีนี้ เทียบกับที่เคยมองไว้ในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ 4.0% และยิ่งต่ำลงเมื่อเทียบกับที่คาดไว้ในช่วงต้นปีที่ 5.2% ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ในภาพรวมของตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีการผลิตภาพอุตสาหกรรม(Industrial Production) เดือน ก.ค. ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 4.3% ตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่โตน้อยกว่าคาดที่ 2.7% รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์คงทน(Fixed-Asset Investment) ที่ขยายตัวเพียง 5.7% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 เทียบกับที่คาดไว้ที่6.2% ยังไม่รับรวมตัวเลขด้านอื่นๆที่ส่งสัญญาณในลักษณะเดียวกันอีกด้วย เป็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชัดเจน

การชะลอตัวส่วนหนึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของผลกระทบจากนโยบาย Zero-COVID ของจีนที่ทำให้การรักษาเป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลดูจะทำได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นในบางภูมิภาคของประเทศ และนำมาซึ่งนโยบายที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคบริการ

ในขณะที่แรงกดดันอีกส่วนเกิดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและดูจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดขายอสังหาริมทรัพย์หดตัว 31.4% ในช่วง 7 เดือนแรก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเริ่มส่งผลต่อการผลิตสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลผลิตซีเมนต์ (Cement) และเหล็กกล้า (Steel) ที่หดตัว 7.0% และ 6.4% ในเดือน ก.ค. ตามลำดับ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะส่งผลตอบอุปสงค์ด้านอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจต่อไป รวมถึงกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงด้วย

แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทำให้รัฐบาลจีนต้องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate) อายุ 1 ปีลง 0.05% มาอยู่ที่ 3.65% และอายุ 5 ปี ลง 0.15% มาอยู่ที่ 4.30% เพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย reverse repurchase อายุ 7 วัน ลง 0.10 % สู่ระดับ 2.0% เมื่อสัปดาห์ก่อน

นอกจากนี้ยังมีการอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 4 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 5.93 หมื่นล้านดอลลาร์ เข้าสู่ระบบการเงินของจีนเพื่อเพิ่มระดับสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย โดยการปรับลดดอกเบี้ยต่างๆ นี้ แม้จะเป็นขนาดที่ไม่มากนัก แต่ก็ส่งสัญณาณได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจจีน ซึ่งต้องยอมรับว่าในขณะที่มีความเสี่ยงด้านขาลง (Downside) มากกว่า อัตราการขยายตัวในระดับ 3-4% อาจจะดูดีสำหรับประเทศอื่น แต่คงไม่ใช่สำหรับประเทศจีนเท่าใดนัก

ในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศหลักก็มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก และเริ่มเห็นอุปสงค์ของนักลงทุนสถาบันรวมถึงกลุ่มประกันชีวิตกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรอายุยาวขึ้น สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลง และแม้ผลตอบแทนพันธบัตรจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเงินเฟ้ออยู่มากก็ตาม

ผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกจากแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนอาจะเกิดขึ้นได้หลายส่วน ผ่านทางตลาดการเงินและภาคเศรษฐกิจเนื่องจากบทบาทของจีนต่อเศรษฐกิจโลกที่มีมาก โดยในส่วนของตลาดการเงินหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงต่อเนื่องจริงก็อาจจะทำให้เรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศทีพัฒนาแล้วทุเลาลงได้บ้างในช่วงสั้น (แม้ต้องยอมรับว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศหลักนั้นเกิดจากด้านอุปทานผสมกับอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก)

และส่งผลให้ดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับลดลง และส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น คล้ายกับกรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาไม่ดี แต่ตลาดหุ้นตอบรับในทิศทางบวก เนื่องจากต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาเรื่องของเงินเฟ้อเป็นปัจจัยกดดันหลักของตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน ไม่น่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของการลงทุนในระต่อไป

ทำให้แม้ตลาดการเงินดูจะปรับตัวขึ้นมามากในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ภาพรวมเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันตลาดการเงินต่อเนื่อง ไม่นับรวมเรื่องของสงครามและเงินเฟ้อ ทำให้การบริหารพอร์ตการลงทุนยังคงต้องใช้ความระมัดระวังและปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกันต่อไปครับ