Stop loss ประโยชน์และข้อพึงระวัง

Stop loss ประโยชน์และข้อพึงระวัง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ปีนี้การลงทุนในตลาดหุ้นรวมถึงตลาดทุนอื่นๆค่อนข้างผันผวนอย่างมาก จากปัจจัยต่างๆที่ถาโถมเข้ามา ทั้งเรื่องของเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางต้องหามาตรการเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อลง ตามมาด้วยเรื่องความกังวลว่าเศรษฐกิจอาจถดถอย

  วันนี้ผมอยากเขียนถึงเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาใช้บริหารความเสี่ยงเมื่อตลาดปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

                ท่านผู้อ่านที่เป็นนักลงทุนและมีประสบการณ์กับการลงทุนมาระยะเวลาหนึ่งคงเคยได้ยินคำว่า stop loss หรือการหยุดขาดทุน ซึ่งเป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่ใข้กันในหมู่นักซื้อขายหรือเทรดเดอร์ หรือแม้แต่การลงทุนแบบเป็นระบบก็มีการนำเครื่องมือนี้มาใช้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนไม่ให้มากจนเกินไป

เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงที่ราคาอาจไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่เรามุ่งหวัง เช่นถ้าเราซื้อหุ้นเราก็คาดหวังว่าราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อเราลงทุนไปแล้วอาจมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ราคาหุ้นที่เราลงทุนอยู่ปรับตัวลดลง ซึ่งถ้าเหตการณ์นั้นส่งผลให้ราคาลดลงในช่วงสั้นๆก็คงไม่เป็นไร

 

  แต่ถ้ามันส่งผลให้ราคาปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เราอาจต้องตัดสินใจขายหุ้นนั้นออกไปก่อนเพื่อหยุดการขาดทุนจากหุ้นตัวนั้น ซึ่งจะส่งผลกรทบต่อพอร์ตความมั่งคั่งของเรา

                การหยุดขาดทุนมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์และรายละเอียดที่ต่างกันออกไป วันนี้เราลองมาดูการหยุดขาดทุนบางประเภทที่นิยมกัน

1.Initial stop เป็นการตั้งจุดขาดทุนสูงสุดที่เรารับได้จากราคาที่เราซื้อ เช่นถ้าเราซื้อหุ้นที่ราคา 100 บาทและเรารับการขาดทุนสูงสุดได้ที่ 20% เราก็ทำการตั้งราคา stop loss ไว้ที่ 80 บาท วิธีการหยุดขาดทุนแบบนี้ก็เพื่อช่วยปกป้องพอร์ตการลงทุนของเราไม่ให้เสียหายเกินกว่าที่เราจะรับได้

            2.Break-even stop หรือการตั้งจุดหยุดขาดทุนไว้ที่ราคาที่เราซื้อ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องเงินต้นของเรา แต่วิธีการตั้ง stoploss แบบนี้จะใช้ได้เมื่อเราซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์ใดๆแล้วราคาปรับตัวขึ้นไประยะหนึ่ง เช่นจากตัวย่างเดิมที่เราซื้อหุ้นที่ราคา 100 บาทและเมื่อเราซื้อไปแล้วราคาปรับตัวขึ้นไปเป็น 115 บาท เราอาจทำการปรับจุด stoploss จากเดิมที่ 80 บาทขึ้นมาเป็น 100 บาทแทน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจว่าเงินลงทุนเริ่มต้นของเราจะยังคงอยู่

3.Trailing stop  หรือการปรับราคา stop loss ขึ้นลงตามราคาหุ้นในขณะนั้นๆ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้เราเกิดความมั่นใจว่าเราสามารถรักษาผลกำไรเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง เช่นจากตัวอย่างเดิมในข้อ 1 และ 2 เราอาจสร้างเงื่อนไขการหยุดขาดทุนเอาไว้ให้เท่ากับ 15% ของจุดสูงสุดที่ราคาหุ้นตัวนี้เคยทำไว้

เช่นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆและทำจุดสูงสุดที่ 150 (เรากำไร 50%) และหลังจากนั้นราคาเริ่มปรับตัวลดลงเราจะทำการขายเมื่อราคาลงมาถึง 127.5 บาท (150*0.85) ซึ่งทำให้เรายังมีกำไรเหลือ 27.5% แม้ว่าจะน้อยกว่าที่จุดสูงสุดแต่ก็ยังมีกำไร

4.Time stop จริงๆแล้ววิธีนี้ไม่น่าจะเรียกว่า stoploss เนื่องจากตัวมันค่อนข้างจะแตกต่างจากวิธีอื่นๆที่กล่าวมา โดยวิธีนี้จะหยุดลงทุนเมื่อเวลาผ่านไปถึงเวลาที่เรากำหนดไว้เช่นครึ่งปีเป็นต้น วิธีนี้เหมาะกับหลักทรัพย์ที่เมื่อเราลงทุนไปแล้วราคาไม่ขยับไปไหนมากนัก หรือไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างที่เราคาดหวังทำให้หยุดลงทุนและหันไปสำรวจหาหลักทรัพย์อื่นที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ครับนี่ก็เป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่นิยมใข้กันในหมู่นักลงทุน ส่วนการตั้งค่าว่าจะ stoploss ที่จุดใดนั้นสามารถเลือกได้หลายวิธีด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป็นเปอร์เซนต์ หรือปรับตามค่าความผันผวนของหลักทรัพย์ที่เราลงทุน หรือตามแนวรับ เป็นต้น

และข้อพึงระวังของการหยุดขาดทุนก็คือการหยุดขาดทุนจะเป็นประโยชย์มากในภาวะที่หลักทรัพย์มีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและยาวนาน และนักลงทุนอาจเจอกับกรณีที่เมื่อโดน stop loss ออกไปแล้วราคาหลักทรัพย์กลับปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆในช่วงที่ราคาเคลื่อนไหวแบบ sideway อาจทำให้ขาดความั่นใจและเลิกใช้เครื่องมือนี้ไปเลยก็ได้

ท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนครับ