เตรียมเกษียณอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจถดถอย

เตรียมเกษียณอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจถดถอย

ปัจจุบันสำหรับนักลงทุนที่วางแผนระยะยาวเพื่อการเกษียณนั้น ดูมีแต่เหตุปัจจัยที่ทำให้ต้องกังวลใจ ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อสูง ที่ทำให้อำนาจซื้อของเงินออมด้อยค่าลงไปมากยิ่งกว่าปกติ พอจะหาที่ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็กลัวว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดีมาก ๆ ก็อาจไม่ได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวน

พอจะฝากเงินเพื่อรอดอกเบี้ยขึ้นสูง ๆ แล้วค่อยเริ่มลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทชั้นดี ดอกเบี้ยเงินฝากนั้นก็แพ้เงินเฟ้ออยู่มากมาย (คาดการณ์เงินเฟ้อของธปท. อยู่ที่ 6.2% ในพ.ศ. 2565 และ 2.5% ในปี 2566 เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ที่ 0.25 – 1.50% ต่อปี) ซึ่งความกังวลใจนี้ ก็รวมไปถึงผู้ที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบบ Employee Choice ด้วย วันนี้จึงมีข้อแนะนำเล็ก ๆน้อย ๆ มาฝากกัน

1) การลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น ไม่ใช่การลงทุนสั้น ๆ เพราะเราจะไปใช้เงินก้อนนี้ในตอนเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องยาวนานมาก (และแม้ว่าเราจะใกล้เกษียณ หรือเกษียณไปแล้ว ก็ยังต้องลุ้นอีกว่าจะอายุยืนไปได้อีกหลายสิบปีหรือไม่ด้วย)

 

2) ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเราจะอยู่ไปนานเท่าไหร่ ก็น่าจะต้องมองให้ปลอดภัยไว้ก่อนว่าอย่างน้อยเราน่าจะอยู่ไปได้พอ ๆ กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยปัจจุบันชายไทยที่อายุ 60 ปี จะมีโอกาสอยู่ไปถึง 78 - 79 ปี และหญิงที่ 83 – 84 ปี

3) สัดส่วนการลงทุนสำหรับพอร์ตเพื่อการเกษียณ จะมาเน้นหนักลงทุนในตราสารหนี้แบบความเชื่อเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป เพราะถ้าต้องอาศัยเงินออมก้อนนี้อยู่ไปอีกเกือบ 20 ปีหลังเกษียณ หรือกว่านั้น ไม่ว่าอย่างไรจากค่าสถิติแล้ว ผลตอบแทนของตราสารหนี้ก็วิ่งไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ

โดยสัดส่วนที่แนะนำกันในประเทศตะวันตก (ที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูง) ในอดีต จะใช้หลัก 100 ลบด้วยอายุ เช่น อายุ 55 ปี ก็ควรมีสัดส่วนลงทุนในหุ้น 45% แต่ในช่วงหลัง ๆ เนื่องจากคาดการณ์อายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จึงเริ่มมีการปรับขึ้นมาเป็น 120 ลบด้วยอายุ ทำให้ผู้ที่อายุ 55 ปี ควรจะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงถึง 65%

 

4) ช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมาก เราควรปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) ให้กลับเข้าสู่สัดส่วนที่ได้วางแผนไว้ เช่นเดิมมีหุ้นอยู่ 65% ตราสารหนี้ 35% แต่พอตลาดหุ้นตกลงมามากมาย (เช่น ทำให้สัดส่วนเปลี่ยนเป็นหุ้น 55% ตราสารหนี้ 45%) ก็ควรปรับให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนเดิมเป็นต้น (เพื่อให้ได้ซื้อของถูกกว่าเดิมนั่นเอง)

5) “มีวินัยในการลงทุน และอย่าให้อารมณ์มาเป็นนายของเรา” เรื่องนี้พูดง่าย ทำยาก และไม่ได้เกี่ยวกับความเก่ง ความฉลาดแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งคนเก่งคนฉลาด ก็เผ่นแน่บทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ โดยขายไปในราคาถูก และกลับเข้ามาซื้อในราคาที่แพง โดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนอะไรในระยะยาวทั้งสิ้น

6) จากข้อมูลการลงทุนในสหรัฐฯ ที่คำนวณโดย Don Ezra อดีตประธานร่วมของ Global consulting for Russell Investments worldwide (สำหรับคู่สมรสที่เตรียมเกษียณ โดยกำหนดให้ถอนเงินมาใช้จ่ายเป็นประจำ 4% ต่อปี และผลตอบแทนที่แท้จริงของหุ้นอยู่ที่ 4%) ควรจะต้องมีเงินลงทุนที่ใกล้เคียงเงินสด เพียงพอเพื่อใช้จ่ายตั้งแต่ 5 – 11 ปี

เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องไปขายหุ้นในช่วงที่ราคาลดลง (ถ้ามีสัดส่วนเงินลงทุนพอใช้จ่ายไปได้ 5 - 6 ปี จะมีโอกาส 75% ของเวลาที่เงินลงทุนในหุ้น (มูลค่าแท้จริงที่ปรับด้วยเงินเฟ้อแล้ว) จะกลับขึ้นมาเท่าเดิมได้ทันก่อนที่จะต้องขายหุ้นมาใช้จ่าย แต่ถ้าต้องการให้โอกาสสูงขึ้นเป็น 90% ของเวลา ก็ต้องเผื่อเงินให้เพียงพอใช้ได้ถึงประมาณ 11 ปี)

เพียงแค่นี้ก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้เราสามารถฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ เพื่อคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีกว่าได้ในระยะยาว