การตรวจลงตราประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa)

การตรวจลงตราประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa)

​​​​​​​รัฐบาลไทยได้กำหนดการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวขึ้นใหม่เป็นกรณีพิเศษ เรียกว่า การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษประเภทผู้พำนักระยะยาว (long-term resident visa: LTR visa)

เพื่อเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยมุ่งหวังที่จะดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศไทย เพื่อส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศที่มากขึ้น เกิดรายได้ต่อเนื่อง และทำให้มีผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น

คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงตามมาตรการนี้ แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้

  1. ประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) มีการลงทุนในประเภทที่กำหนดในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์ และมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์ ต่อปีย้อนหลัง 2 ปี และมีทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์

2. ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner) เป็นผู้เกษียณอายุแล้วและอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และรับเงินบำนาญ หรือมีรายได้ส่วนบุคคล(ซึ่งไม่ใช่จากการทำงาน) ไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือหากรายได้ต่อปีน้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์ ต้องลงทุนในประเภทที่กำหนดในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 250,000 ดอลลาร์และมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 40,000 ดอลลาร์ต่อปี

3.ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-From-Thailand Professional) มีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์ ต่อปีย้อนหลัง 2 ปี หรือหากรายได้ต่อปีน้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์  ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือได้รับทุน Series A ไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์ส

และมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 40,000 ดอลลาร์ต่อปีย้อนหลัง 2 ปี และต้องมีประสบการณ์การทำงาน(เฉพาะด้าน) ไม่น้อยกว่า 5 ปี ส่วนนายจ้างต้องเป็นนายจ้างต่างประเทศซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศใดๆหรือมีรายได้รวมกันใน 3 ปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 150 ล้านดอลลาร์

4.ผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ  (Highly Skilled Professional) ทำงานในกิจการในประเทศไทยและเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ขณะนี้มี14กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย) และมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์ต่อปี ย้อนหลัง 2 ปี หรือหากรายได้ต่อปีน้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์ ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสายงานที่จะเข้ามาทำในประเทศไทยและมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 40,000 ดอลลาร์ต่อปี ย้อนหลัง 2 ปี และจะต้องมีประสบการณ์การทำงาน (ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย) ไม่น้อยกว่า 5 ปี

สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ 

•    วีซ่า10 ปี โดยประทับตราอนุญาตในครั้งแรกไม่เกิน 5 ปี ขยายได้อีก 5 ปี รวมทั้งสิ้น 10 ปี 
•    ให้คู่สมรสและบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปี รวมไม่เกิน 4 คน ขอวีซ่า 10 ปีได้เช่นกัน
•    ใช้ LTR เดินทางเข้าออกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
•    คนต่างด้าวและคู่สมรสขอรับใบอนุญาตทำงานได้   โดยนายจ้างได้รับยกเว้นเรื่องอัตราส่วนคนไทย 4 ต่อ1 
•    แจ้งที่พักอาศัยแค่ปีละครั้ง (ยกเว้นการรายงานทุก 90 วัน) 
•    สามารถใช้ช่องทางด่วนพิเศษในการเดินทางเข้า-ออกที่สนามบิน (Fast Track service) 
•     ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 17% สำหรับผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ  (Highly Skilled Professional) สำหรับเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานในประเทศจากนายจ้างที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
•    ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากต่างประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วและนำเงินเข้ามาในประเทศไทย สำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-From-Thailand Professional)

การยื่นคำขอหนังสือรับรองคุณสมบัติสามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดได้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ยื่นคำขอต้องแสดงกรมธรรม์ประกันสุขภาพซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยตามที่ประกาศกำหนด 

เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วสามารถขอรับการตรวจลงตราได้ทั้งจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ One Stop Service Center (OSS) ค่าธรรมเนียม 50,000 บาทต่อคน 

หากคนต่างด้าวและคู่สมรสผู้ถือวีซ่าผู้พำนักระยะยาวประสงค์จะทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย ก็สามารถยื่นขออนุญาตทำงานได้ โดยยื่นที่ กรมการจัดหางาน OSS ค่าธรรมเนียม 3,000 บาทต่อปี 

เนื่องจากการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษประเภทผู้พำนักระยะยาวนี้ คนต่างด้าวผู้ได้รับอนุมัติมีสิทธิประโยชน์หลายประการจึงได้รับความสนใจจากคนต่างด้าวจำนวนมาก แต่ยังมีรายละเอียดประกอบการพิจารณาอีกหลายประการที่ต้องสืบค้น และจัดเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อพิสูจน์คุณสมบัติต่อไป

ทั้งในส่วนของคนต่างด้าว นายจ้างทั้งกรณีนายจ้างในประเทศไทยและนายจ้างต่างประเทศ และเพื่อวางแผนการพำนักในประเทศ การทำงาน และรวมทั้งภาษีเงินได้ ที่เกี่ยวข้อง 

 

###