หยุดเท หยุดทิ้ง ขยะลงทะเล กันเถอะ !!!!!

หยุดเท หยุดทิ้ง ขยะลงทะเล กันเถอะ !!!!!

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจ และ ขยะทะเล ก็ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่นับว่าเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดย ปัญหามลภาวะในทะเลที่กำลังก่อตัวขึ้น และมีส่วนทำให้สัตว์น้ำหลายล้านตัวล้มตายทุกๆ ปี

ท้องทะเลที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดโปรดของใครหลายคน เราทุกคนควรตระหนักในประเด็น หยุดเท หยุดทิ้ง

ขยะทะเล คือ ของเสียที่เกิดจากมนุษย์ที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งขยะดังกล่าวเป็นขยะพลาสติกมีน้ำหนักเบา และไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาที่สั้นจึงถูกพัดพาไปในที่ที่ห่างไกลจากแหล่งกำเหนิด โดยคลื่น ลม กระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลง

++ แหล่งกำเนิดของ “ขยะทะเล”

โดยทั่วไป แหล่งกำเนิด “ขยะทะเล” มี 2 แหล่ง ทางบก และ ทางน้ำ

1. แหล่งบนบก ได้แก่ ขยะบนบกที่ไม่ได้รับการจัดเก็บและบำบัดอย่างถูกต้อง ที่ถูกพัดพาไปกับแม่น้ำ ลำคลอง, หลุมฝังกลบขยะ(land-fills)ที่มีการจัดการไม่ถูกต้อง, ขยะจากระบบระบายน้ำ (discharge from storm water drains), การทิ้งขยะบนชายหาดและบริเวณชายฝั่งจากกิจกรรมการท่องเที่ยวและอื่นๆ, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม สึนามิ

2. แหล่งในทะเล ได้แก่ การทำประมงและอุตสาหกรรมการประมง (fishing industry), การเดินเรือพาณิชย์และท่องเที่ยว (commercial and recreational shipping), การทำเหมืองแร่ (offshore mining and extraction), การทิ้งขยะลงสู่ทะเลโดยผิดกฏหมาย (illegal dumping at sea)

ในประเทศไทย Thailand Development Research Institute (TDRI) ได้สำรวจและบันทึกสถิติขยะที่พบในทะเลจากการ Big Cleaning ในปี 2020 ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยผลิตขยะพลาสติกประมาณ 27.8 ล้านตันต่อปี และ 7.19% หรือราว 2 ล้านตัน มาจากภาคครัวเรือนหรือชุมชน ซึ่งไหลมาตามแม่น้ำสู่ทะเลประเทศของเรา ประเภทขยะที่พบมากที่สุดคือ เศษพลาสติก 12% กล่องโฟม 10% พลาสติกห่ออาหาร (Food wrappers) 8% ถุงพลาสติก 8% ขวดแก้ว 7% ขวดพลาสติก 7% และ หลอด 5%

ช่วงกลางปี 2022 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ euronews เคยอ้างอิงรายงานพร้อมกับตัวเลข การทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล ลงในมหาสมุทร โดย อินเดีย เป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกทิ้งลงในมหาสมุทรมากที่สุด ราว 126.5 ล้านกิโลกรัมพลาสติก ขณะที่ อันดับ 2  ประเทศจีน มีขยะพลาสติกทิ้งลงในมหาสมุทร 70.7 ล้านกิโลกรัมพลาสติก ส่วนประเทศไทย ยังติดอันดับ 5 ของโลก! และเป็น อันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชีย โดย ไทย ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด  22.8 ล้านกิโลกรัมพลาสติก

++ ทำไมขยะพลาสติกในทะเล ถึงเป็นปัญหา?

เวลาที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวทะเลหรือชายหาด อาจเผลอทิ้ง “ขยะพลาสติก” ที่มาจากการสังสรรค์ รับประทานอาหาร หรือทำกิจกรรมต่างๆ ไว้ตามชายหาด ทั้งอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขยะแค่ไม่กี่ชิ้น แต่เมื่อมันสะสมไปเรื่อย ๆ แบบทบทวี ซึ่งในเวลาต่อมา มันจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทะเลและสัตว์น้ำอย่างมาก อาจทำให้สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในทะเลผิดเพี้ยนไปจากเดิม

มีขยะพลาสติกประมาณ 5.25 ล้านล้านชิ้น ที่คาดว่าลอยอยู่ในมหาสมุทร น้ำหนักประมาณ 269,000 ตัน โดย 70% ของขยะวนเวียนอยู่ในระบบนิเวศมหาสมุทร 15% ลอยตัวเหนือน้ำ อีก 15% อยู่บนชายหาดริมทะเลพลาสติกที่ถูกทิ้งในทะเล 8.3 ล้านตันทุกปี ในจำนวนนี้ประมาณ 236,000 ชิ้นเป็นไมโครพลาสติกซึ่งทำให้สัตว์ทะเลเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร

ข้อมูลจาก Statista และ condorferries.co.uk ได้เผยสถิติของขยะในทะเลและสถิติการตายของสัตว์น้ำ พบว่าในแต่ละปีสัตว์น้ำกว่า 100 ล้านชีวิตต้องจบชีวิตอย่างเดียวดาย โดยมีสาเหตุมาจากขยะพลาสติก สัตว์น้ำ 100,000 ชีวิต ตายจากการถูกพลาสติกพันหรือห่อหุ้มจนขาดอากาศหายใจ

นอกจากนี้ ยังพบว่าสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม  1 ใน 3 สายพันธุ์ ติดอยู่ในขยะพลาสติก พร้อมกับปลาในแปซิฟิกเหนือกินพลาสติกประมาณ 12,000-14,000 ตันทุกปี แต่ละปี 300 ล้านตันของพลาสติกจะถูกผลิตขึ้นทุกปี และมีน้ำหนักเทียบเท่ากับประชากรมนุษย์ทั้งหมด และ 50% ของขยะ เป็นประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง พลาสติกใช้เวลา 500-1,000 ปี ในการย่อยสลาย ปัจจุบัน 79% ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบหรือในมหาสมุทร มีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล และ 12% ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน

++ งดเท งดทิ้ง ขยะลงทะเล กันเถอะ

ขยะพลาสติกในทะเล ยังคงเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญในศตวรรษที่ 21 โดยปัจจุบันประชากรโลกมีอยู่ราว 7,900 ล้านคน ลองจินตนการดูว่า หาก 1 คน ทิ้งขยะ 1 ชิ้นลงในทะเล ในมหาสมุทรแล้ว จะเป็นปริมาณมหาศาลมากมายขนาดไหน?

ประเทศไทย เราติดอันดับ 5 ของโลก และเป็น อันดับ 4 ของทวีปเอเชีย ของ 10 ประเทศทิ้งขยะพลาสติก ลงในทะเลปริมาณมากที่สุด ซึ่งการที่ติดอยู่ในชาร์ตเหล่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจเลย

การลดการใช้พลาสติกซึ่งทำได้หลายวิธีในราคาประหยัด แต่วิธีที่ง่ายที่สุด ที่ทุกคนช่วยกันได้ คือการเปลี่ยนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วยทางเลือกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ การซื้อขวดน้ำแบบใช้ซ้ำได้ หรือแก้วกาแฟแบบใช้ซ้ำได้ หรือ เรียกว่าเป็นการใช้แบบ “รียูส” นั่นเอง 

จะช่วยคุณประหยัดเงินในระยะยาวและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม