สายพันธุ์เดลต้า…จะเปลี่ยนสถิติตลาดหุ้นโลก?

สายพันธุ์เดลต้า…จะเปลี่ยนสถิติตลาดหุ้นโลก?

หลังจากนวัตกรรมทางการแพทย์ได้ประกาศชัยชนะต่อโรคโควิด-19 ไปในปีที่แล้ว

 หลายเศรษฐกิจหลักของโลกสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตให้ลดลงได้ ทำให้การดำเนินชิวิตและธุรกิจกลับเป็นปกติอีกครั้ง แต่แล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา...จำนวนผู้ติดเชื้อกลับพุ่งขึ้นและที่สำคัญการระบาดครั้งนี้เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้าที่มีจุดกำเนิดจากอินเดีย แพร่กระจายรวดเร็ว และอาจลดประสิทธิภาพวัคซีนบางชนิดได้อีกด้วย

เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันในการแข่งขันฟุตบอลยูโร ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะที่อังกฤษ แต่ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง ผู้ได้รับวัคซีนครบโดสมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร และผู้สูงอายุรับวัคซีนแล้วเกือบ 100% นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนประเภท mRNA (ของ Pfizer-BioNTech และ Moderna) และ Viral vector (ของ AstraZeneca) ทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักและอัตราการเสียชีวิตต่ำ รัฐบาลจึงเดินหน้าเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

เราน่าจะได้เห็นภาพเดียวกันในสหรัฐฯ ที่แม้ว่าระยะหลัง จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นถึงเฉลี่ยวันละ 4-5 หมื่นราย (จากก่อนหน้าที่มีผู้ติดเชื้อวันละไม่ถึงหมื่นราย) และกว่า 80% เป็นสายพันธุ์เดลต้า แต่ด้วยประชากรกว่าครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และวัคซีนหลักเป็นแบบ mRNA ที่ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี สหรัฐฯ จึงไม่น่าจะต้องกลับไปใช้มาตรการ Lock-down และเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวต่อได้ตามแผน

ในทางตรงข้าม ประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่า เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ล้วนต้องใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น ไทย ก็กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า โดยผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีเพียงราว 5% ของประชากร และวัคซีนส่วนใหญ่เป็นแบบเชื้อตาย ทำให้ไทยต้องกลับมาใช้มาตรการกึ่ง Lock-down ที่เข้มงวด และนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักออกมาประเมินว่า GDP ปีนี้ อาจติดลบได้ ! ถ้าหากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ไม่เร่งกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ออกมาตรการเยียวยาให้เพียงพอ

ในด้านการลงทุน ตลาดหุ้นจะอ่อนไหวกับอัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมทั้งความเพียงพอของระบบสาธารณสุข ตลาดหุ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปจึงทุบสถิติทำจุดสูงสุดใหม่ได้

ในระยะสั้น นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงหุ้นในตลาดเกิดใหม่เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นกลับไประดับก่อนเกิดโควิดได้ล่าช้า หุ้นที่น่าจะสร้างผลงานที่ดีในครึ่งปีหลังคือหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แม้หลายดัชนีชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวทำจุดสูงสุดในไตรมาส 2 ก่อนจะชะลอลง แต่นับได้ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในระดับดี ยุโรปเป็นภูมิภาคที่เรามีมุมมองเป็นบวกมากที่สุด เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามหลังสหรัฐฯ เพียงราวๆ 1 ไตรมาส และตลาดหุ้นยุโรปยังขึ้นไม่มากเท่าหุ้นสหรัฐฯ หรือเรียกได้ว่าเป็น Laggard หุ้นยุโรปจึงน่าสนใจในมุมของ Valuation ที่ถูกกว่า ปัจจุบัน ดัชนี Euro Stoxx 600 ซื้อขายที่ระดับราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) 16.5 เท่า ต่ำกว่าดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ที่สูงถึง 21.4 เท่า (ณ 27 ก.ค.) อีกทั้ง หุ้นยุโรปยังมีคาดการณ์การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่นกว่า และที่สำคัญ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุในการประชุมครั้งล่าสุดว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินไปอีกนาน ทั้งจะคงดอกเบี้ยติดลบและอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ ต่างจากในสหรัฐฯ ที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่องแล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนควรกระจายลงทุนทั้งในหุ้นกลุ่ม Growth (เช่น กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์) และหุ้นกลุ่ม Cyclical ที่ผลประกอบการแปรผันตามวัฎจักรเศรษฐกิจ (เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน) เพื่อสร้างสมดุลให้พอร์ตการลงทุนที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนระหว่างไวรัสกลายพันธุ์และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง หากนักลงทุนไม่มีข้อมูลหรือเวลาในการติดตาม ควรเน้นลงทุนผ่านกองทุนรวม ที่มักกระจายลงทุนในหลายบริษัท มีผู้เชี่ยวชาญเลือกเฟ้นหุ้นคุณภาพดี ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีศักยภาพการเติบโตในอนาคต