มอง “นวัตกรรม” กับอนาคตประเทศไทยผ่าน (ร่าง) แผน 13

มอง “นวัตกรรม” กับอนาคตประเทศไทยผ่าน (ร่าง) แผน 13

กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จะเริ่มใช้ในปี 2566-2570 หรือที่เรียกว่า แผน 13 มีเป้าหมายหลักคือพลิกโฉมประเทศไทย

บทความโดย ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหนึ่งในแผนที่ช่วยระบุทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศควบคู่กับแผนอื่นๆ เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จะเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2566 จนถึง พ.ศ.2570หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า แผน 13

 เป้าหมายหลักของแผนฯ ฉบับนี้ คือ  พลิกโฉมประเทศไทยสู่ เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยมีการกำหนด 13 หมุดหมายสำคัญ ซึ่งบ่งบอกถึงสิ่งที่ประเทศไทยปรารถนาจะ ‘เป็น’ มุ่งหวังจะ ‘มี’ หรือต้องการจะ ‘ขจัด’ ในช่วงเวลา 5 ปี ในแผน 13 เน้น การกำหนดหมุดหมายการพัฒนาที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก 2) การวิเคราะห์ผลกระทบ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ 3) การวิเคราะห์สถานะของประเทศและผลจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก แล้วนำมาระบุเป็นโอกาสและความเสี่ยงที่ประเทศต้องเผชิญในอนาคต ท

แน่นอน ผลจากการวิเคราะห์ใน 3 ประเด็นหลักข้างต้น ย่อมต้องนำไปสู่โจทย์การใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ความท้าทาย ของแผนฯ ฉบับนี้ คือ จะทำให้แผนกลายมาเป็นการปฏิบัติจริง ภายในระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน) ให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างภาครัฐ ด้วยการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน. เมื่อ พ.ศ. 2562 อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงภายในภาครัฐที่จะต้องทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ และประชาสังคม ซึ่งมีศักยภาพในการทำนวัตกรรมสูงขึ้นเรื่อย ๆ

3 ประเด็นหลักทางนวัตกรรมที่ (ร่าง) แผน 13 ควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ คือ

ประเด็นที่ 1 การปลดล็อคข้อจำกัดและอุปสรรคการพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบ - แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของระบบ ววน. ของประเทศ แต่เป็นเพียงการมุ่งเน้นจัดโครงสร้างฝั่งอุปทาน (วิจัยและพัฒนา) โดยยังไม่ได้แก้ปัญหาฝั่งอุปสงค์ (นวัตกรรม) อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การใช้ประโยชน์องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่นวัตกรรมยังมีอยู่จำกัด ไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในระดับมวลวิกฤต (critical mass) และสร้างผลกระทบในระดับมหภาคอย่างเป็นระบบ

การพัฒนาระบบนวัตกรรมจึงควรให้ความสำคัญกับ 1) การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีศักยภาพ (Innovation-based Enterprise - IBE) 2) การพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านการจัดการนวัตกรรมและพัฒนาองค์กรนวัตกรรม 3) การปรับปรุงกฎ/ระเบียบ/มาตรการที่ล้าหลังไม่ทันสมัย

4) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และการลงทุน 5) การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในเรื่องของนักวิจัย ห้องปฏิบัติการ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ และ 6) การกระจายโอกาสด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบในระดับมหภาคได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา

ประเด็นที่ 2 การตอบสนองต่อแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงโลก (Global Disruption) - ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม และวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดคำถามถึงความพร้อมของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในการรับมือและตอบสนองต่อภาวะวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลักใน 3 ด้าน ได้แก่

1) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการรูปแบบใหม่ของประชาชนผ่านนวัตกรรมภาครัฐ

2) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Inequality) ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้

ทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกัน รวมถึงสร้างโอกาสการกระจายตัวและการขยายผลของนวัตกรรมไปสู่วงกว้างในระดับพื้นที่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการในระดับพื้นที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่

3) ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate Change) ทั้งปัญหาหมอกควัน มลพิษ ภัยแล้ง และขยะ เพราะถึงแม้คนไทยเริ่มตระหนักและมีการสร้างจิตสำนึกในสังคมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ประเด็นที่ 3 การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้อง เพื่อมุ่งสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจากการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ GII (อันดับที่ 44 จาก 131 ประเทศในปี 2020) และดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก (อันดับที่ 36 จาก 60 ประเทศ ในปี 2021) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มอันดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปสลับขึ้นลง ซึ่งถึงแม้จะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน แต่ยังต้องเร่งเสริมมาตรการเพื่อแก้ปัญหาจุดด้อยให้ตรงจุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงต่อยอดการสร้างนวัตกรรมให้ไปสู่ธุรกิจนวัตกรรม เช่น

1) เชื่อมโยงการลงทุนและการใช้ประโยชน์ศักยภาพด้านองค์ความรู้ การผลิต และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศจากงานวิจัยไปสู่นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

2) ยกระดับอุตสาหกรรมและการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

3) สร้างศักยภาพแห่งอนาคตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นตัวขับเคลื่อน โดยเร่งพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และ

4) พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมให้สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ลดข้อจำกัด และปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนทางนวัตกรรม รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพ และสนับสนุนเชิงข้อมูลทางการเงินด้านนวัตกรรม เชื่อมโยงดึงดูดการระดมทุนและการร่วมลงทุน

การพัฒนาที่สอดรับและสนับสนุนกับประเด็นข้างต้นจะเป็นเหมือนสปริงบอร์ดสำหรับประเทศไทยในการที่จะก้าวกระโดดด้านนวัตกรรม เพื่อก้าวเป็นประเทศชั้นนำที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมสามารถสนับสนุนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรกำหนดเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมที่ชัดเจนที่สามารถเติมเต็มจุดอ่อน สอดคล้องกับศักยภาพ รวมถึงมีการสื่อสารและถ่ายทอดไปสู่ภาคส่วนต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

โดยมีตัวชี้วัดสำคัญภายในปี 2570 ได้แก่ อันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ของประเทศไทย ขยับขึ้นไปสู่ 35 อันดับแรก การสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้น ทั่วประเทศ 15,000 ราย การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (GERD) สู่ 2% และการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท การใส่ปัจจัยขาเข้า (input) เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้มีการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในระบบ และให้ความสำคัญต่อ การสร้าง กระบะทรายทางนวัตกรรม ให้ลองเสี่ยงทดสอบ

อนาคตของนวัตกรรมไทย คงไม่เพียงพอ หากเราเชื่อมั่นใน โมเดล “นวัตกรรมเปิด” แผน 13 คือ กระบะทรายทางกระบวนทัศน์ที่จะดึงเราก้าวข้ามความยากลำบากไปพร้อมกัน ด้วย “นวัตกรรมไทย”.