จัดเลี้ยงสุราในโรงเรียน! นี่หรือคือร่างกฎหมายเสนอโดยประชาชน

จัดเลี้ยงสุราในโรงเรียน! นี่หรือคือร่างกฎหมายเสนอโดยประชาชน

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังคิดเห็นจากประชาชน มีข้อเท็จจริงบางประการ ที่ถูกซ่อนไว้ในร่างกฎหมายดังกล่าว

ทัศนะจาก ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก

 

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส covid 19 ประเทศเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และมากมาย การฉีดวัคซีนที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การขาดแคลนวัคซีนที่มีประสิทธิผล ในขณะเดียวกันก็มีคลัสเตอร์ที่เป็นกลุ่มแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้นอีกในหลายรูปแบบหลายพื้นที่ เช่น การจัดงานปาร์ตี้เลี้ยงสุรากัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของการทำให้เกิดการแพร่เชื้อ covid-19 ไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การห้ามจัดเลี้ยงสุรา ห้ามดื่มสุราในร้านอาหารจึงเป็นมาตรการสำคัญอันหนึ่งที่ภาครัฐได้ออกมาควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

 

ท่ามกลางวิกฤตดังกล่าวข้างต้น ได้มีกลุ่มที่อ้างตนว่า กลุ่มประชาชน เสนอร่าง “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่....) พ.ศ ......” เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอยกประเด็นที่น่าสังเกตบางประเด็นมานำเสนอ เพื่อชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงบางประการที่ถูกซ่อนไว้ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว นั่นคือ ในมาตรา 12 ที่ให้ยกเลิกความใน (4) ของมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 ซึ่งเป็นฉบับเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในมาตรา 31 นั้นเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดไว้ 6 ประเภทตาม  (1) - (6) และใน (7) ได้กำหนดให้รัฐมนตรีที่รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้สามารถประกาศสถานที่อื่นใดเพิ่มเติมได้ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายของกลุ่มที่อ้างว่าเป็นประชาชนได้เสนอให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน  

“(4) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พัก หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือสถานศึกษาที่สอนการผลิต หรือการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

 

นอกจากนี้ในมาตรา 4 ได้กำหนดให้เพิ่มความหมายของคำว่า จัดเลี้ยงตามประเพณี ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 ดังนี้

        “จัดเลี้ยงตามประเพณี หมายความว่า งานเลี้ยงที่จัดขึ้นโดยเจ้าของสถานที่ หรือมีผู้ขอเช่า ใช้สถานที่ในการจัดงานที่เป็นไปตามประเพณีสืบต่อกันมา ได้แก่ งานเลี้ยงปีใหม่ งานแต่งงาน งานเลี้ยงส่ง งานเลี้ยงต้อนรับ งานครบรอบ งานเกษียณอายุ

 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากร่างกฎหมายใน (4) ที่จะนำมาใช้แทนของเดิมในมาตรา 31 ชอง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ 2551 ประกอบกับคำนิยามของคำว่า “จัดเลี้ยงตามประเพณีเลี้ยง” ก็สามารถตีความได้ว่า เจ้าของสถานที่สามารถจัดงานเลี้ยงที่มีการเลี้ยงหรือจัดให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างกว้างขวาง

อาจกล่าวได้ว่า สามารถจัดงานเลี้ยงสุราได้แทบทุกงานเลยทีเดียว เนื่องจากตามมาตรา 4 ที่เสนอเพิ่มเข้ามานั้น ได้ให้คำนิยามคำว่า จัดเลี้ยงตามประเพณีครอบคลุมงานต่างๆ หลายอย่าง รวมทั้ง “งานครบรอบ” ซึ่งข้อความนี้ สามารถใช้เป็นข้ออ้างจัดงานได้เกือบทุกประเภททีเดียว

เช่น อ้างว่าเป็นงานครบรอบวันก่อตั้งสถานศึกษาบ้าง ครบรอบวันสถาปนาคณะ ครบรอบวันจัดตั้งสาขาวิชา ครบรอบการก่อตั้งแผนกวิทยาศาสตร์ หรือการครบรอบอะไรต่างๆ อีกมากมายที่จะตามมา จึงเท่ากับว่า สามารถจัดเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียนได้ทุกงานเลยทีเดียว

หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มในสถานศึกษาหรือในโรงเรียนย่อมไม่สามารถกระทำได้ และการจัดงานเลี้ยงสุราก็เป็นการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น

การจัดเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษาที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ ก็ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นอยู่เสมอว่า ในการจัดงาน เช่น งานเลี้ยงศิษย์เก่า งานเลี้ยงส่งผู้บริหาร มักจะมีการให้นักเรียนหรือนักศึกษามาช่วยบริการในงาน

นอกจากจะเป็นการทำตนเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนักทำให้แก่นักเรียน / นักศึกษาแล้วในบางครั้งบางครา ผู้ไปร่วมงานลี้ยงก็มีมีการเชิญชวนให้นักเรียน / นักศึกษาดื่มด้วยกันหรือบางทีนักเรียน/ นักศึกษาเหล่านั้นก็มีการแลกหรือซื้อเครื่องดื่มจากงานไปตั้งวงดื่มกันเองก็มี

ดังนั้นในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระดับอุดมศึกษาหรือโรงเรียนในระดับมัธยม หรือประถมศึกษาก็ดี ไม่ควรให้มีการจัดเลี้ยงหรือจัดงานที่มีการดื่มสุรา ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง สถานศึกษาควรเป็นสถานที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ ควรเป็นสถานที่ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่สถานที่ที่จัดให้มีการดื่มสุราอันเป็นเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และต่อสังคมในหลายด้าน รวมทั้งผู้บริหารการศึกษา หรือครูบาอาจารย์ก็พึงกระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ควรดื่มสุราในสถานที่ในสถานศึกษาหรือในโรงเรียน

ลองนึกว่า ...ถ้าเราเป็นพ่อ-แม่ เป็นผู้ปกครอง.... เรายินดีหรือที่โรงเรียนที่บุตรหลานของเรา มีแต่การจัดงานเลี้ยงสุรากันในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง หลายงาน แทบทั้งปี แล้วบางทีบุตรหลานของเราก้ถูกเรียกไปช่วยบริการในงานเลี้ยงสุรานั้นด้วย!

พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ. ศ. 2551 ในมาตรา 31 เดิมนั้นได้มีข้อห้ามไว้อยู่แล้ว โดยมีข้อยกเว้นให้สำหรับการจัดงานแต่งงานเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ก็สืบเนื่องมาจาก การจัดงานแต่งงานโดยเฉพาะในต่างจังหวัดนั้น บางครั้งหาสถานที่สำหรับจัดงานไม่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องขอใช้สถานที่ของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งมีห้องประชุมขนาดใหญ่ หรือมีสนามฟุตบอลที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สามารถจัดงานแต่งงานที่มีแขกรับเชิญจำนวนมากพอสมควรมาร่วมในงานเลี้ยงได้

นอกเหนือจากงานดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนก็มีความเห็นว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีการจัดงานอื่นๆ อีกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำนิยามของคำว่า “จัดเลี้ยงตามประเพณี” ในร่างใหม่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ที่เสนอมาใหม่นั้น เป็นการขยายให้สามารถจัดงานเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษาหรือในโรงเรียนได้มากขึ้น

นอกเหนือจากความไม่เหมาะสมในแง่ของสถานที่ และการเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจแสวงหากำไรจากการจัดงานเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ในโรงเรียนได้

การร่างกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ จึงน่าจะเล็งเห็นถึงเจตนาของกลุ่มผู้ร่างได้ชัดเจนว่า มีจุดประสงค์ที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังในการที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจหรือผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถแสวงหาผลกำไรจากการจัดงานเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษาได้ ไม่น่าเชื่อว่านี่คือ ร่างของประชาชน...จริงหรือ!

นั่นคือ ส่วนหนึ่งของจุดซ่อนเร้นอันร้ายกาจของร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่.....) พ.ศ ......... ที่อ้างว่าเสนอโดยประชาชน แต่กลับไม่ได้มองถึงผลเสียที่จะเกิดกับประชาชนโดยส่วนรวมโดยเฉพาะประชาชนที่เป็นเด็กและเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ 

ยังมีประเด็นซ่อนเร้นอีกหลายประเด็นในร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว หากมีโอกาส ผู้เขียนจะได้มาเจาะประเด็น ชี้แจงและคลี่ข้อเท็จจริงให้เห็นถึงความน่าสงสัย และความน่ากลัวของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่อ้างว่าเสนอโดยประชาชน!