ประสบความสำเร็จทางการเงิน ด้วยยุทธวิธี Sandbox

ประสบความสำเร็จทางการเงิน ด้วยยุทธวิธี Sandbox

สวัสดีครับ ช่วงนี้หลายๆท่านคงได้ยินคำว่า Sandbox กันบ่อยใช่ไหมครับ หลังจากที่ ประเทศไทยเราได้เริ่มเปิดโครงการ ภูเก็ต Sandbox

เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยทางภาครัฐนั้น คาดหวังไว้ว่า โครงการ ภูเก็ต Sandbox จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการ เปิดประเทศในส่วนต่อๆไปครับ วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ทุกท่านฟังครับ ว่าเราสามารถนำกลยุทธ์ Sandbox มาใช้ในการวางแผนการเงินการลงทุนได้อย่างไร

“คำว่า Sandbox นั้นหากแปลแบบตรงตัว ก็คือลานกระบะทราย ที่ให้เด็กๆมาเล่นกัน โดยเราจะพบเห็นกระบะทราย นี้ตามลานเด็กเล่น  โดยประโยชน์ของกระบะทรายนั้น มีไว้เพื่อจำกัดขอบเขตการเล่นของเด็กๆ ทรายที่เด็กๆสามารถก่อทรายเป็นอะไรก็ได้ตามใจต้องการ ได้ลองผิดลองถูกตามจินตนาการ และ อยู่ในพื้นที่ควบคุม ไม่ให้ไปกระทบกับพื้นที่อื่นๆรอบกระบะทราย

ต่อมาคำว่า Sandbox ก็ถูกนำมาใช้ในแวดวงIT โดย ในยุคทศวรรษที่ 1970 ในวงการIT จะมีการนำคำศัพท์นี้มาใช้ในการพัฒนาโปรแกรม โดยการทำ Sandbox จะหมายถึงการจำลองระบบปิดที่ตัดขาดจากระบบหลัก และมาสภาพแวดล้อมสอดคล้องเอื้อต่อการทดลองโปรแกรมนั้นๆ เพื่อศึกษาดูปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากตัวโปรแกรม และเมื่อมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกมาใหม่ ก็จะนำมาศึกษาทดลองใน พื้นที่ Sandbox นี้จนสำเร็จเรียบร้อยเสียก่อน จึงค่อยปล่อยออกสู่ตลาดต่อไปนั่นเอง

และคำว่า Sandbox ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นจนถูกนำมาใช้กับโครงการทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ ก่อนที่จะถูกนำออกสู่การใช้งานจริง เพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่อื่นๆ ก่อนจะถูกนำไปขยายผลต่อไป ดังเช่น ภูเก็ต Sandbox ที่ใช้ พื้นที่ จังหวัด ภูเก็ต เป็น Sandbox ในการจำลองว่า หากเราอยากจะเปิดประเทศ ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่นประชากรในพื้นที่จะต้องได้รับวัคซีนเกิน 70% นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะต้องได้รับวัคซีนครบแล้วนั้น จะมีความเป็นไปได้แค่ไหน จะมีผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่ ซึ่งในกรณีของ ภูเก็ต Sandbox นั้น หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่เพียงใน Sandbox หรือจังหวัดภูเก็ตนั้นเอง

กลับมาที่ เรื่องการใช้ กลยุทธ์ Sandbox เป็นตัวช่วยในการไปให้ถึงเป้าหมายทางการเงินกันบ้างครับ

หากพูดถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินนั้น ก็คงจะต้องเป็นเรื่องของการวางแผนทางการเงินที่ดีและเหมาะสมนั้นเองครับ แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า แผนการเงินของเรานั้น เหมาะสมหรือไม่ การใช้กลยุทธ์ Sandbox จะเป็นตัวช่วยบอกให้ได้ครับว่า แผนการเงินของเรานั้นจะสามารถพาเราไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้หรือไม่ครับ

โดยขั้นตอนในการนำ Sandbox มาใช้ในการทำแผนการเงินนั้น เราสามารถเริ่มจากการสร้างแผนการเงินเบื้องต้นขึ้นมาก่อนว่า เรามีเป้าหมายทางการเงินอะไรบ้าง แต่ละเป้าหมายมีมูลค่าเท่าไร มีระยะเวลาในการออมและลงทุนนานแค่ไหน จะต้องทำผลตอบแทนได้อยู่ที่เท่าไร และ จะต้องออมเงินอยู่ที่เท่าไร

เมื่อได้แผนการเงินเบื้องต้นมาแล้ว จะเป็นขั้นตอนทดลอง Sandbox ในส่วนของ การออมเงินต่อเดือน เช่น หากเรามีรายได้อยู่ที่ 100,000 บาทต่อเดือน แล้วตั้งใจจะซื้อบ้านที่ ราคา 5 ล้านบาท ทำให้ต้องผ่อนบ้านเป็นเงิน 40,000 บาทต่อเดือน และตั้งใจจะออมเงินอีกเดือนละ 40,000 เพื่อที่จะเป็นเงินสำหรับการเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากแผนการเงินนี้เราจะเหลือเงินใช้จ่ายเพียงเดือนละ 20,000 บาทเท่านั้น ก็ให้เราทำการทดลอง Sandbox โดยการหักเงิน 80,000 บาทไปไว้ในบัญชีเงินฝากอีกบัญชีหนึ่ง (เนื่องจากเป็นการทดลอง จึงยังไม่ต้องมีการลงทุนจริง) แล้วทดลองดูว่า เราจะอยู่ได้หรือไม่สำหรับการใช้จ่ายเพียง 20,000 บาทต่อเดือนไปสักระยะหนึ่ง หากพบว่า เงินใช้จ่าย 20,000 บาทต่อเดือนนั้นไม่เพียงพอ ก็จึงปรับแผนให้มีความเหมาะสม โดยจะเป็นการปรับลองผิดลองถูกระหว่างอัตราส่วน เงินออม และเงินใช้จ่ายให้เหมาะสมกับความเป็นจริงนั่นเอง

และนอกจากการทำ Sandbox ในส่วนของการออมเงินแล้วนั้น เราก็ยังสามารนำเทคนิค Sandbox มาทดสอบว่ากลยุทธ์ในการลงทุนของเรานั้นเหมาะสมหรือไม่อีกด้วย โดยหากเป็นการลงทุนในหุ้นนั้น เราสามารถใช้โปรแกรมจำลองในการเทรดหุ้นต่างๆที่มีให้เราได้ใช้ฟรีๆ โดยราคาหุ้นก็จะวิ่งตามราคาจริงของตลาด ณ เวลานั้นๆ เพื่อเป็น Sandbox ในการลองผิดลองถูกว่า กลยุทธ์ที่เราจะนำมาใช้ในการเทรดหุ้นนั้นโอเคหรือไม่ ก่อนที่จะเริ่มเทรดจริงนั่นเอง

และในส่วนของการลงทุน ในกองทุนรวมนั้น ผู้ลงทุนก็สามารถใช้ Portfolio Simulator (พอร์ตกองทุนจำลอง) ที่มีให้เลือกใช้บริการโดย บลจ. ต่างๆ เป็น Sandbox ในการลองผิดลองถูกได้เช่นเดียวกับพอร์ตหุ้นครับ

สุดท้ายนี้ การนำ Sandbox มาใช้ทดสอบแผนการออมและการลงทุน ในเบื้องต้นนั้นน่าจะทำให้เราได้เห็นภาพของแผนการเงินของเราได้ชัดขึ้นครับว่า มีโอกาสที่จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากทำการทดลองออกมาแล้ว แล้วพบปัญหาในการปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสม การขอรับคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางการเงิน ก็จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ดีครับ