Decentralized Innovation หมดยุครวมศูนย์

Decentralized Innovation หมดยุครวมศูนย์

การตั้ง Innovation Lab แยกออกมาจากหน่วยงาน R&D ของบริษัทเพื่อพัฒนานวัตกรรมขั้นสูงที่สามารถพลิกโฉมธุรกิจ กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง

เทรนด์การตั้ง Innovation Lab เพื่อพัฒนานวัตกรรมขั้นสูงนี้กำลังมาแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ Healthcare, Banking, และพลังงาน ล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง  Pfizer, Astrazeneca, และ AWS ประกาศตั้ง Innovation Lab ในประเทศอิสราเอลด้วยเงินลงทุนตั้งต้น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเป้าหมายที่จะดึงเอาผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพในประเทศอิสราเอลมาร่วมพัฒนาโครงการนวัตกรรมด้าน Healthcare  

เช่นเดียวกันกับธุรกิจฝั่ง Banking บริษัทชั้นนำอย่าง Mastercard ก็มีแผนที่จะเปิดตัว Innovation Lab อย่างเป็นทางการในประเทศอิสราเอลเพื่อผลักดันนวัตกรรมใหม่ในกลุ่ม Fintech และ Cyber security ผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างเช่น Banking มองว่าการบริหารจัดการโครงการนวัตกรรมที่มีศักยภาพไม่ได้จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายในองค์กรหรือใช้ทรัพยากรขององค์กรเท่านั้น

Bank of America เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมแบบกระจายศูนย์ และประสบความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรแล้วถึง 4,000 กว่าสิทธิบัตรโดยกว่า 50% ของสิทธิบัตรที่จดเป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี AI, Machine Learning และ Information Security การสร้างนวัตกรรมแบบกระจายศูนย์โดยมี Innovation Lab กระจายตัวอยู่ในเมืองหลักๆในโลกได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้นำอุตสาหกรรมกำลังให้ความสำคัญ

            ปัญหาหลักของการสร้างนวัตกรรมโดยหน่วยงานกลางและบริหารจัดการแบบ “Centralized”  ก็คือทีม R&D และ Innovation จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสื่อสาร รายงานผล และ ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้ประสิทธิภาพในการคิดค้น วิจัย และ พัฒนา นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในวงกว้างลดลง ผลผลิตที่ออกมาจากท่อของการพัฒนานวัตกรรมถูกมองจากฝั่ง Business Unit ว่าไม่แตกต่าง และไม่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ

          บริษัทที่ยังคงมีโครงสร้าง R&D/Innovation แบบรวมศูนย์ ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิมเช่น ธุรกิจค้าปลีก อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมการผลิต เกษตรและอาหาร เป็นต้น ในอดีตข้อได้เปรียบของการมีหน่วยงานกลางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ก็คือการใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมงานมาเป็นตัวตั้งต้น และสร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ทุกหน่วยธุรกิจ แต่ในยุคปัจจุบันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ มักจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่พลิกเกมธุรกิจได้ การเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่และมุมมองใหม่ทางด้านเทคโนโลยีกลายเป็นช่องว่างที่ไม่เติมไม่เต็มถ้ายังใช้ทีมงานที่มีอยู่เดิม

          กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านเช่น Healthcare, Banking, และ พลังงาน คือ กลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆที่ปรับโครงสร้างไปใช้รูปแบบการทำงานแบบกระจายศูนย์  ผลการสำรวจจาก MIT ระบุชัดเจนว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า  Innovation Lab ที่เป็นการพัฒนานวัตกรรมแบบกระจายศูนย์จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้องค์กรเติบโต

             การทำงานแบบรวมศูนย์ได้กลายเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตขององค์กร เพราะปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนผู้นำองค์กรจำเป็นต้องหันไปหาตัวเลือกที่อยู่นอกกรอบโครงสร้างเดิมมาแก้โจทย์ ทางออกอนาคตจึงอยู่ที่การมุ่งหน้าพัฒนาโครงสร้างการทำงานแบบกระจายศูนย์เพื่อทำให้เกิดการกระจายอำนาจการตัดสินใจที่จะทำให้ทุกสิ่งรวดเร็วขึ้น นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมองค์กรอย่างยั่งยืน สิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องตระหนักอยู่เสมอก็คือ คำว่า “One Size Fits All” ไม่เคยมีอยู่จริงในกระบวนการการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรม.