การกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์นวัตกรรมสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี

การกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์นวัตกรรมสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี

ในยุคของการตระหนักถึงการเกิด “ดิสรัปชั่น” ทางธุรกิจเช่นในปัจจุบัน เรื่องของการสร้างความเข้มแข็งเพื่อไม่ให้ธุรกิจตกเป็นเหยี่อของ “ดิสรัปชั่น”

ด้วยวิถีของการแสวงหาและสร้างสรรค์ นวัตกรรมให้กับธุรกิจ ถือได้ว่าเป็นแนวคิดหนึ่งที่ธุรกิจไม่ว่าขนาดใหญ่หรือธุรกิจระดับเอสเอ็ม ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ และพยายามผลักดันให้ธุรกิจที่ตนต้องรับผิดชอบอยู่ เดินไปสู่เส้นทางของการเป็น ธุรกิจนวัตกรรมหรือ การเป็น องค์กรนวัตกรรม

การปรับเปลี่ยนทิศทางและวิธีการดำเนินธุรกิจที่เดิมเคยปฏิบัติกันอยู่มาเป็นเวลาช้านาน เข้าสู่โหมดของการบริหารและดำเนินธุรกิจแบบใหม่ที่ไม่เคยคุ้นชินมาก่อน เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการมองการณ์ไกลและความมุ่งมั่นของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารระดับสูงสุดของธุรกิจว่า เส้นทางใหม่ที่ธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิมนั้น จะต้องสร้างความเข้มแข็งและความเติบโตให้กับธุรกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และหากยังคงเลือกเส้นทางเดิมต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็อาจเกิดความถดถอยขึ้นกับธุรกิจอย่างแน่นอน

การมองการณ์ไกลและความมุ่งมั่นของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจในลักษณะนี้ อาจเรียกว่าเป็นการกำหนด วิสัยทัศน์ให้กับธุรกิจ และเป็นบทบาทหน้าที่ของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจที่จะต้องถ่ายทอดวิสัยทัศน์นี้ออกใปให้บุคลากรในทุกระดับชั้นขององค์กรได้รับทราบ และมองเห็นทิศทางอนาคตของธุรกิจที่เป็นภาพเดียวกัน

วิธีการหนึ่งที่จะช่วยถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของธุรกิจให้เที่ยงตรงแม่นยำเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็คือ การเขียนวิสัยทัศน์ของธุรกิจออกมาให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้ในการถ่ายทอด ตอกย้ำ และเตือนความจำ ให้กับพนักงานและบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้รับทราบเป็นภาพเดียวกัน

หากธุรกิจ ต้องการที่จะมองเห็นเส้นทางเดินในอนาคตของธุรกิจ ให้อยู่ในเส้นทางของการเป็นธุรกิจ นวัตกรรม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระบุเรื่องของการสร้างนวัตกรรม ให้รวมอยู่ในวิสัยทัศน์ของธุรกิจ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เช่นกัน

การปรับปรุงวิสัยทัศน์ธุรกิจให้รวมเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารสูงสุด จะต้องเป็นผู้สร้างให้เกิดขึ้น โดยอ้างอิงถึงคำนิยามว่า นวัตกรรม หมายถึงการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดคุณค่าและความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

คำประกาศ “วิสัยทัศน์” ของธุรกิจ จะถูกนำไปขยายความต่อเพื่อให้เกิดการวางแผนและปฏิบัติของพนักงานสู่เป้าหมายที่ธุรกิจได้ โดยกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจที่ผ่านการสร้างกลยุทธ์นวัตกรรม การกำหนดเป้าหมายผลลัพธ์ของนวัตกรรมตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ การวางแผนปฏิบัติการนวัตกรรม ทั้งในรูปแบบของแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แผนระดับแผนก แผนการประสานงานข้ามฝ่าย และแผนระดับบริษัท และการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามความก้าวหน้าของโครงการนวัตกรรมให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

วิสัยทัศน์นวัตกรรมที่แสดงความท้าทายต่อการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ จะถือได้ว่าเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี

บทบาทหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุด โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะมาสนับสนุนให้วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ให้เกิดเป็นจริงได้ ก็คือ การสร้างค่านิยมร่วมด้านนวัตกรรม ให้เกิดขึ้นกับบุคลากรทุกระดับชั้นในธุรกิจ

ค่านิยม ก็คือ อัตลักษณ์หรือวัฒนธรรม ที่พนักงานและบุคลากรทุกคนในธุรกิจคิดและทำเหมือน ๆ กัน เป็น “นิสัยร่วม” ที่สะท้อนความเชื่อและวิธีการทำงานของธุรกิจ

คล้ายๆ กับค่านิยมของ คนไทยที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ส่วนไหนในโลก ก็ยังคงความเป็น คนไทยให้คนอื่นเห็นและรับทราบได้โดยไม่ยาก

สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นธุรกิจครอบครัว การสืบสานค่านิยมของธุรกิจจะเกิดขึ้นและเห็นได้โดยง่าย จากการที่พนักงานได้รับทราบ รับฟัง รับการบอกเล่า เห็นการกระทำ ฯลฯ จากผู้บริหารระดับสูงอยู่เป็นประจำที่สื่อถึงความคิดและปรัชญา ประสบการณ์ และคำสอนต่างๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนซึมซับเข้าไปในตัวของพนักงาน สามารถนำไปเล่าต่อ หรือนำไปปฏิบัติต่อ แม้จะอยู่นอกเวลาทำงาน หรืออยู่ที่บ้าน

การสืบสานค่านิยมเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่ม ความกล้าคิดกล้าทำ ความกล้าสงสัยในเรื่องต่างๆ รอบตัวอยู่เสนอ การพยายามค้นหาคำตอบของปัญหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่ ความตระหนักในการนำคุณค่าและคุณภาพส่งมอบแต่ลูกค้า ฯลฯ ล้วนทำได้ด้วยวิธีเดียวกันกับการถ่ายทอดปรัชญาและประสบการณ์จากผู้อาวุโสสู่ผู้ที่มีอาวุโสต่ำกว่า

กระบวนการกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์นวัตกรรมให้กับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในลักษณะเดิมๆ หรือ ธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการสร้างธุรกิจ แต่ต้องการกำหนดทิศทางให้ธุรกิจมุ่งมั่นเดินไปตามเส้นทางการสร้างนวัตกรรม แม้จะถือได้ว่าเป็นภารกิจในระดับสูง ที่เจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงสุดของธุรกิจ จะต้องเป็นผู้ริเริ่มด้วยตัวเอง เพื่อให้พนักงานและบุคลากรทุกระดับชั้นในองค์กรได้เห็นถึงความมุ่งมั่นและจริงจัง ร่วมไปกับการเป็นผู้นำในการสร้างขวัญกำลังใจ ผ่านค่านิยมใหม่ด้านนว้ตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร จะเป็นการเริ่มต้นจุดประกายของ “นวัตกรรม” ให้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งในองค์กร

ผลที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะสามารถสะท้อนออกไปสู่บุคคลภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า คู่ค้า และสังคมโดยทั่วไปได้เห็นได้โดยไม่ยาก

การสร้างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืน จะต้องระเบิดจาก ภายในไม่ใช่การไปซื้อหรือไปรับมาจาก ภายนอก” !!??!!