ร่วมมือดิจิทัล ‘อาเซียน’ (ASEAN Digital Ministers)

ร่วมมือดิจิทัล ‘อาเซียน’ (ASEAN Digital Ministers)

หากจะพูดถึงกรอบความร่วมมือของอาเซียน หลายคน รวมถึงผู้เขียนเอง อาจจะตอบไม่ได้หมดว่ามีกรอบความร่วมมืออะไรบ้างเนื่องจากมีกรอบ เวที กลไก เยอะเหลือเกิน

อาเซียนมีการพูดคุยถึงกรอบความร่วมมือใหม่เป็นประจำ

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสื่อผสมมาเลเซีย ได้เป็นเจ้าภาพเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ASEAN Digital Ministers (ADGMIN) ครั้งที่ 1 โดยมีหัวข้อหลักของกิจกรรมประชาสัมพันธ์ คือ “ASEAN: A Digitally Connected Community” โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ผ่านระบบทางไกล ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

ประเด็นแรก สถานการณ์โควิด -19 เป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยในส่วนของอาเซียนแม้การพัฒนาด้าน ICT และดิจิทัลจะปรับตัวอย่างรวดเร็วแต่ระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกยังคงแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีความหวังว่าอาเซียนจะพัฒนาไปเป็นประชาคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความปลอดภัย ยั่งยืน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ICT เพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมตามปณิธานของแผนประชาคมเศรษฐกิจได้ในอนาคต

ประเด็นที่ 2 กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อลดปัญหาอาชญากรรมทาง    ไซเบอร์และประเทศสมาชิกอาจพิจารณาออกกฎหมายเพื่อกับดูแลการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล การปกป้องสิทธิส่วนบุคคลการแสดงความคิดเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือการส่งเสริมการก่อความรุนแรงและการก่อการร้าย เป็นต้น

ประเด็นที่3 เสนอให้ประเทศสมาชิกจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตในอาเซียนให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความเสถียรอยู่ตลอดเวลา

ประเด็นที่4 เสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศ ASEAN +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในด้านดิจิทัลในอาเซียน

ประเด็น5 ประเด็นสุดท้าย เสนอให้จัดตั้ง online platform เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ของอาเซียนให้สามารถจำหน่ายสินค้าโดยตรงให้ผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง

ในขณะเดียวกัน อาเซียนรับรองแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025: ADM 2025) หรือกรอบความร่วมมือด้านดิจิทัล โดยมุ่งให้อาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์ ในการเป็นประชาคมชั้นนำด้านดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบริการดิจิทัล ตลอดจนมีระบบนิเวศ ที่ปลอดภัย ซึ่งถือเป็นทิศทางเชิงกลยุทธ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

เมื่อกล่าวสรุปคือ เป็นการเน้นย้ำถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการใช้เทคโนโลยี และเครื่องมือด้านดิจิทัล เข้ามาช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่าง ภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิตและโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ SMEs และ MSMEs ซึ่งถือเป็นรากฐานของภูมิภาคอาเซียน และเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์ในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย