การบริจาคเพื่ออนาคต

การบริจาคเพื่ออนาคต

 เมื่อพูดถึงการบริจาคเพื่อการกุศลแล้ว คนไทยนับว่าไม่แพ้ใคร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจารีตของ “การให้” ที่ฝังรากลึกอยู่ในพุทธศาสนาแบบเถรวาท

บทความโดย รศ.ดร.โรซาเลีย ซิออติโน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 หลายปีมาแล้วดัชนีระดับโลกของมูลนิธิช่วยเหลือการกุศล (Charities Aid Foundation: CAF) ในเรื่องของการบริจาค (World Giving Index) ได้จัดประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศต้นๆ ที่มีการบริจาคเงินสูงสุด ดัชนีดังกล่าววัดการบริจาคทั่วโลกด้วยตัวชี้วัดสามตัว ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้า การบริจาคเงินเพื่อสาธารณประโยชน์ และการให้เวลากับการอาสาสมัคร

การบริจาคโดยรวมของประเทศไทยในปี 2019 ได้กลับขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 21 หลังจากที่ได้ตกลงไปอยู่ในลำดับที่ 62 ในปี 2018 เช่นเดียวกับในเรื่องของการบริจาคเงิน ซึ่งลำดับขึ้นจากที่ 22 เป็นที่ 4 (CAF, 2019) แม้ตัวชี้วัดอื่นๆ จะลดลงด้วยก็ตาม

แต่สำหรับคนไทยแล้ว คนไทยดูเหมือนจะยินดีบริจาคเงินมากกว่าบริจาคแรง “การช่วยเหลือคนแปลกหน้า” ก็ดี และโดยเฉพาะเรื่องการอาสาสมัครก็ดี มักจะมีนัยความสำคัญน้อยมากมาอย่างต่อเนื่อง จากดัชนีดังกล่าวจึงดูเหมือนว่าสำหรับคนไทยแล้ว เวลาถือเป็นของ (สินค้า) หายาก และนิยมเลือกที่จะบริจาคเพื่อการกุศลมากกว่า เพราะสะดวกและไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ตามมา (Natalie Phaholyothin, 2017:189) ส่วนเมียนมาอยู่ในลำดับที่ 9 จากเดิมเคยเป็นที่ 1 ขณะที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและในภูมิภาคกลับถูกจัดให้อยู่ในลำดับแรกสุดของดัชนีเป็นครั้งแรก

ข้อมูลจากสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนประจำปี ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2559 คำนวณโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลค่าบริจาคของครัวเรือนได้เพิ่มจาก 65,980 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2554 เป็น 88,416 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2559 หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของ GDP ซึ่งสูงกว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ในปีเดียวกัน ที่มีเพียง 10,379 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 0.4 ของรายได้ประชาชาติ

แต่การบริจาคของคนไทยก็จะอยู่ในกลุ่มผู้รับที่จำกัดการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 39,513 ครัวเรือน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2554 เกี่ยวกับกิจกรรมการทำบุญในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการสำรวจ ชี้ให้เห็นถึงการที่คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93 บริจาคเงินเพื่อกิจกรรมทางด้านศาสนา

ส่วนการบริจาคอีกสองรูปแบบ ได้แก่ การให้เงินหรือสิ่งของกับคนนอกครัวเรือน และการบริจาคให้กับองค์กรการกุศลจัดอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่ามาก ครัวเรือนในกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 20.2 บริจาคเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัว ส่วนใหญ่อาจจะให้กับบิดามารดา บุตรหรือญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน

ส่วนหนึ่งของจำนวนที่บริจาคจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจ การบริจาคในรูปแบบที่เป็นทางการที่สุด นั่นคือ การบริจาคให้กับการกุศล มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหากำไร กลับปฏิบัติกันน้อยที่สุด โดยมีเพียงร้อยละ 17.8 ของครัวเรือนกลุ่มตัวอย่าง (Kanchanachitra, 2014: 5)

สอดคล้องกับการสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในปี พ.ศ. 2555 ในกทม. และปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา พบว่า วัดและสถาบันทางศาสนาต่างๆ มักจะเป็นผู้รับการบริจาคบ่อยครั้งที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกสถาบันทางศาสนาให้รับการบริจาคเป็นค่านิยมส่วนตัว

การบริจาคของบุคคลนั้นเป็นเรื่องของความไว้วางใจ เมื่อผู้บริจาครายบุคคลตัดสินใจบริจาค มักจะไม่ใส่ใจตั้งคำถามกับความรับผิดชอบของผู้รับบริจาค องค์กรทางศาสนาส่วนใหญ่มักจะไม่ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานบัญชีการเงิน และจะไม่มีข้อมูลว่ากองทุนมีขนาดเท่าใด และรู้น้อยลงไปอีกเกี่ยวกับการใช้เงินบริจาคและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการการใช้ทุนนั้น

องค์กรทางศาสนาไม่ได้มีระบบบริหารเงินและการจัดการที่โปร่งใสเสมอไป แม้ว่าจะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริจาครายบุคคลอย่างกว้างขวางก็ตาม การวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี พ.ศ. 2555 รายงานว่า วัดส่วนใหญ่มีระบบที่ไม่เหมาะสมสำหรับการจัดการเงินและทรัพย์สินจำนวนมาก การบริหารการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชีและมีเพียงส่วนน้อยที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดเพิ่งถูกกำหนดให้ต้องพิมพ์เผยแพร่รายงานการเงินในปี พ.ศ. 2558 ขณะที่การดำเนินการและการกำกับดูแลยังไม่เข้มงวดเส้นแบ่งระหว่างงบประมาณของวัดและทรัพย์สินส่วนตัวที่พระสงฆ์ได้รับในช่วงที่บวชอยู่ก็ยังคลุมเครือ

การบริจาคให้ทางศาสนาและวัฒนธรรมนี้วางอยู่บนรากฐานของคติในการแลกเปลี่ยนตอบแทนกันและการทำบุญ และยังนิยมที่จะบริจาคให้กับบุคคลมากกว่าให้ในเชิงพัฒนาสังคม เป้าหมายการบริจาคที่รองกันลงมาก็จะเป็น การให้เพื่อเป้าหมายด้านการศึกษาและสาธารณสุข

แต่เมื่อประเทศมีวิกฤตการณ์ขึ้นมา วัฒนธรรมการให้ทั้งเก่าและใหม่มักจะเน้นการสงเคราะห์เยียวยาความจำเป็นเฉพาะหน้า และอาจแฝงความต้องการในบางระดับเพื่อแสดงถึงความสำเร็จส่วนตนหรือความร่วมมือกับผู้อื่นไว้ด้วย

สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเคยกล่าวไว้ว่า “วัฒนธรรมของการบริจาคเพื่อการกุศลในไทยมุ่งเน้นแต่เรื่องของศาสนาและการศึกษาอย่างมาก การบริจาคเช่นนี้มักมุ่งในเรื่องของ ‘การทำความดี’ แทนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง” (Bangkok Post, 2017) เพื่ออนาคต นอกจากนั้น แรงจูงใจในการบริจาคเงินแก่สถาบันศาสนาและการศึกษาก็คือ สามารถลดหย่อนภาษีได้

แต่แนวโน้มของคนรุ่นใหม่จะต้องบริจาคเพื่อเป็นการให้เพื่อสังคมเชิงกลยุทธ์มากขึ้น คือการบริจาคให้แก่องค์กรที่ไปทำงานให้สังคมดีขึ้น เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเด็กและเยาวชน การต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค การขับเคลื่อนเช่นนี้น่าจะต้องส่งเสริมด้วยมาตรการทางการคลังให้มากขึ้น พร้อมๆ กับการกวดขันการใช้เงินกองทุนที่มีอยู่ในสถาบันดั้งเดิมให้ใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ยิ่งขึ้น

สังคมไทย 4.0 จึงเป็นสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน.