ยกร่างแผนพลังงานแห่งชาติ ลงทุนเอกชนเปลี่ยนทิศ

ยกร่างแผนพลังงานแห่งชาติ     ลงทุนเอกชนเปลี่ยนทิศ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ดูเหมือนว่าจะเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ดูเหมือนว่าจะเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วน และเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของภาคพลังงาน แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 แต่การเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานของทั่วโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป ก็ย่อมมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะกระแสโลกที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด และการทยอยออกมาประกาศเป้ามายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ที่เข้มข้น เพื่อก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral)

เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ฉะนั้นหากภาคพลังงานไม่เร่งปรับทิศทางการลงทุนให้สอดรับกับเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ชัดเจน ก็อาจเป็นเหตุผลที่ถูกหยิกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างกีดกันทางการค้าในอนาคตได้

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับเป้าหมายในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan)ใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางการกระทรวงฯได้เริ่มกระบวนการยกร่างแผนฯ ไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563

แต่ล่าสุด ภาพของแผนพลังงานแห่งชาติกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะโจทย์ใหญ่ของแผนฯนี้จะต้องสอดคล้องกับแนวทางมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือทิศทางพลังงานของโลกเป็นหลัก จากเดิมจะคำนึงถึงการใช้พลังงานของประเทศ

หากพิจารณาจากออกมาส่งสัญญาของ กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ได้หยิบยก มติ กบง. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่เห็นชอบกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ และให้กระทรวงพลังงาน จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอ กบง.พิจารณาต่อไปนั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างเร่งยกร่างรายละเอียดต่างๆ โดยระบุว่า จะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญตามแผนปฏิบัติการ 5 แผนฯ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เช่น

ด้านไฟฟ้า จะเน้นเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) ตลอดจนการเข้ามาของกลุ่มผลิตไฟฟ้าเองใช้เอง(Prosumer)ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง

ด้านก๊าซธรรมชาติ เน้นเปิดเสรี และจะต้องวางแผนสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศและการนำเข้า LNG ด้านน้ำมัน แม้จะยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศ แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้รถอีวี ที่มากขึ้น ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะปรับเป้าหมายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อยกร่างแผนพลังงานแห่งชาติเสร็จสิ้นแล้ว ภาพการลงทุนของภาคเอกชนด้านพลังงานในอนาคตจะเปลี่ยนไป ฉะนั้น ภาคเอกชนด้านพลังงาน ก็อย่ารีรอควรใช้จังหวะเวลาในปีนี้ เร่งปรับทิศทางแผนการลงทุนในสอดรับกับแผนพลังงานแห่งชาติที่จะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้า จะได้ไม่ตกขบวนเทรนด์พลังงานแห่งอนาคต